ตุมกาแดง

Strychnos minor Dennst.

ชื่ออื่น ๆ
ตุมกาขาว (ลำปาง); เถากวางดูถูก (สุราษฎร์ธานี); เถาปลอง (ระนอง)
ไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งแก่สีน้ำตาลแกมสีเหลือง มีช่องอากาศขนาดเล็กกระจายทั่วไป มือพันออกเป็นคู่ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก รูปไข่ หรือรูปรี ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบ ดอกสีขาวหรือสีขาวแกมสีเขียว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีส้ม สีแดง หรือสีม่วง เมล็ดแบน รูปรีแกมรูปขอบขนาน

ตุมกาแดงเป็นไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อนไร้หนาม กิ่งแก่สีน้ำตาลแกมสีเหลือง มีช่องอากาศเล็กกระจายทั่วไป เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง มือพันออกเป็นคู่ ยาว ๒-๖ ซม. มักม้วนเป็นวง เมื่ออ่อนมีขน เมื่อแก่เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก รูปไข่ หรือรูปรี กว้าง ๒-๔.๕ ซม. พบน้อยที่กว้างได้ถึง ๗ ซม. ยาว ๕-๑๔ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือตัดป้าน แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นจากโคนใบมี ๓-๕ เส้น ปลายเส้นโค้งจดปลายใบ เส้นกลางใบแบนหรือเป็นร่องตื้นทางด้านบน เส้นใบนูนเด่นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๕-๘ ซม. เกลี้ยงหรือมีขน หูใบลดรูป

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบ ช่อดอกแน่น ยาว ๒-๒.๕ ซม. พบน้อยที่ยาวได้ถึง ๘ ซม. มีขน ก้านช่อดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน ดอกมีจำนวนมาก สีขาวหรือสีขาวแกมสีเขียว ก้านดอกยาวได้ถึง ๒.๕ มม. มีขน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๑.๔ มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกยาว ๕.๕-๖.๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่แกมรูปใบหอก ยาวประมาณ ๒ มม. เนื้อแฉกหนา ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนกลางแฉก ด้านในมีขน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๑.๕-๒.๕ มม. อับเรณูรูปขอบขนานหรือรูปไข่ ยาว ๑-๑.๕ มม. ปลายมีติ่งแหลม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลได้ถึง ๔ เม็ด ปลายรังไข่มีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๓.๕-๔ มม. โคนก้านยอดเกสรเพศเมียมีขนหนาแน่น ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๓.๕ ซม. เปลือกบาง เกลี้ยง เรียบ หรือมีรอยย่นละเอียด สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีส้ม สีแดง หรือสีม่วง เมล็ดแบน รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวได้ถึง ๑.๕ ซม.

 ตุมกาแดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ป่าละเมาะ หรือป่าชายหาด ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตุมกาแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Strychnos minor Dennst.
ชื่อสกุล
Strychnos
คำระบุชนิด
minor
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Dennstedt, August Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1776-1826)
ชื่ออื่น ๆ
ตุมกาขาว (ลำปาง); เถากวางดูถูก (สุราษฎร์ธานี); เถาปลอง (ระนอง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์