ชาหอมเป็นพืชเบียนประเภทไม้พุ่ม กิ่งห้อยลงทอดเลื้อยด้วยไหล ต้นสูง ๒-๕ ม. ลำต้นและกิ่งเมื่อยังอ่อนเป็นเหลี่ยม แบน ข้อเป็นสัน ส่วนอื่น ๆ เรียบและเห็นเป็นแนวสันเล็กน้อย กิ่งแก่รูปคล้ายทรงกระบอก เปลือกมีรอยแตกตื้น ๆ ตามยาว
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปกลม รูปรี หรือรูปใบหอก กว้าง ๐.๗-๑.๒ ซม. ยาว ๑.๑-๒.๘ ซม. หรืออาจยาวได้ถึง ๔.๔ ซม. ปลายเรียวแหลม ปลายสุดเป็นติ่งหนามโคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบสีเขียวอมเทา หนาคล้ายแผ่นหนัง มีนวล เป็นผง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๗ เส้น โค้งออกไปสู่ขอบ แต่ปลายเส้นไม่เชื่อมเป็นเส้นขอบใบเส้นใบนูนทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบสั้นมาก
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจุก ออกที่ซอกใบ ก้านช่อเป็นเหลี่ยม กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. มี ๘-๑๐ ดอก สีเขียวหรือสีเหลือง บางครั้งแกมสีน้ำตาล อยู่เป็นกระจุกแต่ร่วงง่าย มักเหลือดอกที่เจริญเต็มที่เพียง ๔-๕ ดอก ใบประดับ ๑ ใบ รูปใบหอก บิดไปมา กว้างประมาณ ๐.๒ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. โคนเรียว กลีบรวมคล้ายใบที่ฉ่ำน้ำโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น ๓-๔ แฉก รูปไข่กว้าง กว้าง ๑.๒-๑.๕ มม. ยาว ๑-๒ มม. มีเส้นกลางกลีบ ๑ เส้น ปลายกลีบด้านในมีติ่งแหลมอ่อน ขอบกลีบม้วนขึ้นเล็กน้อย มีปุ่มเล็ก เกสรเพศผู้ ๓ เกสร โคนก้านชูอับเรณูแผ่กว้างกว่าปลายเล็กน้อย กว้างประมาณ ๐.๑ มม. ยาวประมาณ ๐.๔ มม. อับเรณูรูปไข่ กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาวประมาณ ๐.๒ มม. จานฐานดอกฉ่ำน้ำ มีรังไข่เป็นหมันขนาดเล็กมากอยู่ตรงกลางช่อดอกเพศเมียมักมีดอกเดียวหรือเป็นช่อแบบกึ่งช่อซี่ร่ม มี ๔ ดอก ก้านช่อยาว ๓-๔ มม. ก้านดอกยาวกว่าก้านดอกเพศผู้เล็กน้อย ปลายขยายใหญ่ มีใบประดับ ๒-๓ ใบ รูปใบหอกหรือรูปคล้ายช้อน บิดไปมาเรียงจดกันสูงขึ้นมาถึงกึ่งกลางของดอกดูคล้ายกลีบเลี้ยง ร่วงง่าย กลีบรวม ๔ กลีบ รูปไข่กว้าง กว้าง ๑.๒-๑.๕ มม. ยาว ๑-๒ มม. ปลายกลีบทางด้านในมีติ่งแหลมอ่อนสั้น ๆ แนวขอบมีปุ่มเล็ก กลีบรวมร่วงง่ายมีเกสรเพศผู้เป็นหมัน จานฐานดอกคล้ายในดอกเพศผู้ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๐.๓ มม. มี ๑ ช่อง ออวุล ๒-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียคล้ายเส้นด้าย กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นพูฉ่ำน้ำต่อมน้ำต้อยแบนหรือเว้าเล็กน้อยผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๕-๕.๕ มม. ยาว ๕-๖ มม. สุกสีส้มหรือสีแดงมีรอยแผลกลีบรวมรูปค่อนข้างกลมเห็นชัด เมล็ดรูปคล้ายผล เรียบ ฉ่ำน้ำ มี ๑ เมล็ด
ชาหอมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นตามที่โล่งในป่าไผ่บนเขาหินปูนที่สูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนเมษายนถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่ยุโรปตอนใต้ แอฟริกา อินเดีย เนปาล ภูฏาน ศรีลังกา เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน.
ประโยชน์ ใบชงดื่มเป็นชา เนื้อไม้มีน้ำมันหอมระเหยใช้แทนไม้หอมอินเดีย (Santalum album L.) แต่มีคุณภาพด้อยกว่า.