ขี้มอด ๑

Dalbergia lanceolaria L. f. var. lakhonensis (Gagnep.) Niyomdham

ชื่ออื่น ๆ
ถ่อน (ลำพูน); อีเม็ง (อุบลราชธานี)
ไม้ต้น ทุกส่วนที่ยังอ่อนรวมทั้งช่อดอกมีขน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อยรูปไข่ รูปรีหรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ดอกรูปดอกถั่ว สีขาว หรือขาวแกมม่วงอมน้ำเงิน ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว แบน รูปขอบขนาน มักมีเมล็ดเดียว

ขี้มอดชนิดนี้เป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๑๕-๓๐ ม. กิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอก มีขนหนานุ่ม

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๑๐-๒๐ ซม. หูใบเล็กมาก ร่วงง่าย ใบย่อย ๗-๑๓ ใบ เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๒.๕-๕.๕ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ปลายมนหรือเว้าเล็กน้อย โคนมน เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๐ เส้น ก้านใบย่อยยาว ๓-๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ยาว ๕-๘ ซม. ดอกรูปดอกถั่ว ยาวประมาณ ๗ มม. ก้านดอกยาว ๑-๑.๕ มม. กลีบเลี้ยงมีขนนุ่ม โคนติดกันเป็นรูปถ้วย ยาว ๔-๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดใกล้เคียงกัน มีขนนุ่ม กลีบล่างสุดยาวกว่ากลีบอื่นเล็กน้อย กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาว หรือขาวแกมม่วงน้ำเงิน กลีบกลางรูปโล่ เส้นผ่านศูนย์ประมาณ ๖ มม. กลีบคู่ข้างรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕.๕ มม. กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปเรือ กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็นแผ่น แยกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มละ ๕ ก้าน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน มีขนสั้น มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๒-๔ เม็ด

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก แบน กว้าง ๑.๕-๑.๘ ซม. ยาว ๖-๙ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ปลายแหลมหรือมน โคนสอบ ส่วนมากมีเมล็ดเดียวตรงกลางฝัก กระพุ้งเมล็ดแข็งนูนหนากว่าส่วนอื่นเล็กน้อยเมื่อแห้ง เมล็ดรูปไต แบน สีน้ำตาล กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๗ มม.

 ขี้มอดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นในป่าเบญจพรรณที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๗๕-๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่าและลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้มอด ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Dalbergia lanceolaria L. f. var. lakhonensis (Gagnep.) Niyomdham
ชื่อสกุล
Dalbergia
คำระบุชนิด
lanceolaria
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. lakhonensis
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Gagnep.) Niyomdham
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1741-1783)
ชื่ออื่น ๆ
ถ่อน (ลำพูน); อีเม็ง (อุบลราชธานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม