เต้าดง

Macaranga indica Wight

ชื่ออื่น ๆ
เต้าเลื่อม (เหนือ); หูช้าง (ปราจีนบุรี)
ไม้ต้น ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ โคนแบบก้นปิด ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนงออกตามซอกใบ ดอกเล็กเป็นกระจุก สีเขียวอ่อนอมเหลือง ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ผลแบบผลแห้งแตกรูปทรงค่อนข้างกลม หรือมีพูลึก ๒ พู ปลายมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดอยู่ กลีบเลี้ยงติดทน เมื่อแห้งเห็นต่อมเป็นจุดเล็ก ๆ สีดำ เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงค่อนข้างกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ด

เต้าดงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. กิ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๑ ซม. เกลี้ยง อาจมีขุยหรือมีนวล

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ กว้าง ๙-๒๐ ซม. ยาว ๑๐-๒๒ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลมกว้าง โคนแบบก้นปิด มนกลม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนอาจมีนวล เมื่ออ่อนมักมีขนละเอียด เกลี้ยงเมื่อแก่ยกเว้นตามเส้นใบมีขนเล็กน้อย ด้านล่างค่อนข้างเกลี้ยงแต่บางครั้งมีขนสีขาวเป็นกำมะหยี่เพียงเล็กน้อยหรือเป็นกลุ่ม เส้นใบรูปฝ่ามือ ออกจากจุดที่ติดของก้านใบหลายเส้น มักมีต่อมรูปรี ๒ ต่อมอยู่บนเส้นใบใกล้โคนใบก้านใบยาว ๖-๑๘ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางยาวได้ถึง ๓ มม. เกลี้ยง ติดลึกเข้ามาจากขอบโคนใบ ๒-๔ ซม. หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๔-๖ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายแหลม บางคล้ายกระดาษ อาจโค้ง ร่วงเร็ว เมื่อแห้งสีน้ำตาลอมดำ มีขุย

 ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบ ดอกเล็กเป็นกระจุกสีเขียวอ่อนอมเหลือง ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อม ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจะ พบบ้างเป็นช่อแยกแขนง แน่น ยาว ๖-๑๒ ซม. แขนงมักคดไปมาระหว่างดอก มีใบประดับย่อยรูปช้อน ร่วงเร็ว เกลี้ยง ก้านใบประดับย่อยแบน ยาว ๑-๒ มม. มีต่อมใหญ่ชัด ๑ ต่อม อาจพบ ๒ ต่อมบ้าง รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๓ มม. ดอกเพศผู้กิ่งและใบ แต่ละกระจุกมี ๕-๘ ดอก กลีบเลี้ยงแยกกัน เกสรเพศผู้ ๕-๗ เกสร อับเรณูมี ๔ ช่อง ช่อดอกเพศเมียคล้ายกับช่อดอกเพศผู้ แต่กิ่งไม่คดไปมา ดอกเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม หรือมีพูลึก ๒ พู ยาวได้ถึง ๔ มม. เมื่ออ่อนมีขน เกลี้ยงเมื่อแก่ปลายมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดอยู่ กลีบเลี้ยงติดทน เมื่อแห้งเห็นต่อมเป็นจุดเล็ก ๆ สีดำ ก้านผลยาว ๐.๕-๑ ซม. เมล็ดขนาดเล็ก รูปทรงค่อนข้างกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ด

 เต้าดงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางได้ถึง ๒,๑๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงกันยายน เป็นผลเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ศรีลังกา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และสุมาตรา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เต้าดง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Macaranga indica Wight
ชื่อสกุล
Macaranga
คำระบุชนิด
indica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wight, Robert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1872)
ชื่ออื่น ๆ
เต้าเลื่อม (เหนือ); หูช้าง (ปราจีนบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต