จิงจ้อสายเป็นไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี ลำต้นทอดนอน ยาว ๑-๒ ม. ปลายพันเลื้อย มีขนหยาบแข็งหนาแน่น
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่แคบหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๘-๓.๘ ซม. ยาว ๑.๘-๖.๕ ซม. ปลายมน มีติ่งหนามสั้น โคนเว้ารูปหัวใจตื้น ขอบเรียบและมีขนครุย แผ่นใบด้านบนมีขนหยาบแข็งประปราย ด้านล่างหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๒ เส้น ก้านใบยาว ๐.๓-๑.๒ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ มี ๑ ดอก พบน้อยที่มี ๓ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๑.๒-๕.๕ ซม. ใบประดับ ๒ ใบ รูปเคียว ยาว ๐.๒-๑.๑ ซม. ดอกสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปใบหอกถึงรูปขอบขนาน ขนาดเกือบเท่ากัน ยาว ๑-๑.๕ ซม. กลีบนอก ๓ กลีบ ปลายกลีบแหลมถึงสอบเรียว ผิวกลีบด้านนอกเหนียวเมื่อสัมผัส มีขนค่อนข้างหยาบแข็ง กลีบใน ๒ กลีบ ปลายกลีบมน เกลี้ยง กลีบเลี้ยงติดทนเมื่อเป็นผลกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๒.๕-๓ ซม. โคนหลอดดอกโค้งเล็กน้อย ปลายหยักตื้น ๕ หยัก กลีบดอกเกลี้ยง ยกเว้นที่ปลายแถบกลางกลีบมีขนละเอียดเป็นกระจุก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาวไม่เท่ากัน อยู่ภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูติดที่โคนหลอดกลีบดอกโคนก้านกว้าง ปลายก้านเรียวคล้ายเส้นด้าย มีเกล็ดขอบเป็นขนครุยที่โคนก้าน อับเรณูแตกตามยาว เมื่อแตกบิดเวียน จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยงหรือมีขนหยาบแข็ง มี ๒-๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑-๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาวคล้าย
ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๑ ซม. เกลี้ยงหรือมีขนหยาบแข็ง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปสามเหลี่ยมแกมรูปทรงรี ยาว ๓-๔.๕ มม. สีค่อนข้างดำ เกลี้ยง มี ๒-๔ เมล็ด
จิงจ้อสายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง หรือตามที่โล่ง ที่สูงจากระดับทะเล ๑๕๐-๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่จีน ลาว และเวียดนาม.