เคาะหนามเป็นไม้ต้นกึ่งเบียน สูง ๕-๑๕(-๒๕) ม. ลำต้นและกิ่งมักคดงอเป็นปุ่มปม ไม่มีหนามตามกิ่งเปลือกค่อนข้างเรียบหรือเป็นสะเก็ดห่าง ๆ สีเทาอมขาวและมีแผ่นประสีนํ้าตาลอมเหลืองทั่วไป กระพี้สีขาวอมเหลือง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรี รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปไข่ กว้าง ๕-๘.๕ ซม. ยาว ๑๒-๑๘ ซม. ปลายแหลมหรือแหลมทู่ โคนมนกว้าง ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อยแผ่นใบหนา ค่อนข้างเปราะ ด้านบนเกลี้ยง เป็นมัน และมักมีตุ่มพองเล็ก ๆ ประปรายตามผิวทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบนูน เห็นชัดทางด้านล่าง และมักเป็นร่องทางด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น เส้นโค้งและปลายเส้นจรดกับเส้นถัดขึ้นไปก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห สังเกตเห็นได้ทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม. เกลี้ยง มักมีต่อมคล้ายแผลเป็นบริเวณโคนก้าน
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกเดี่ยวหรือเป็นกระจุก ๒-๓ ช่อ ตามปุ่มปมและเหนือรอยแผลใบตามกิ่งหรือลำต้น ช่อยาว ๓-๕ ซม. มักห้อยย้อยลงดอกเพศผู้สีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบรวมโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกรูปไข่ ๔-๕ แฉก กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายงุ้มเข้าเล็กน้อย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดตรงข้ามกับแฉกกลีบรวม เกสรเพศเมียเป็นหมัน มียอดเกสรเดี่ยวสั้น ๆ ดอกเพศเมียคล้ายดอกเพศผู้แต่มีขนาดใหญ่กว่า รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ มี ๓(-๕) ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ส่วนมากเจริญเพียงเม็ดเดียว ก้านยอดเกสรเพศเมียอวบหนา ยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แฉกโค้งกลับ
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี รูปไข่กลับหรือรูปลูกข่าง กว้าง ๒.๕-๓.๕ ซม. ยาว ๓-๔ ซม. ผลอ่อนมีขนสั้นนุ่ม ผลแก่เกลี้ยง สุกสีเหลือง ปลายผลมีกลีบรวมติดทน ก้านผลยาวได้ถึง ๒ ซม. เมล็ด ๑ เมล็ด แข็ง
เคาะหนามมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๑๐๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย.