ชาหนุมาน

Paraboea xylocaulis Triboun

ไม้ล้มลุกหลายปีหรือไม้กึ่งพุ่ม ลำต้นมักห้อยลง มีเนื้อไม้ แตกกิ่งค่อนข้างมาก ชูขึ้น เปลือกต้นขรุขระสีน้ำตาลอมเทา ปลายกิ่งเปราะ หักง่าย ส่วนโคนค่อนข้างแข็งคล้ายมีเนื้อไม้ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากชิดกันแน่นหรือคล้ายเรียงเวียน ใบใกล้ยอดเรียงถี่เป็นกระจุก รูปใบหอก ด้านบนมีขนต่อมหลายเซลล์กระจายทั่วไป ด้านล่างมีขนแบบขนแกะสีน้ำตาลหนาแน่น ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด มีดอกจำนวนมาก ดอกสีม่วงอ่อนหรือสีม่วง ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่ สีเขียวมีแต้มสีแดง เมื่อแก่บิดเป็นเกลียว มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน เมล็ดรูปคล้ายกระสวย ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

ชาหนุมานเป็นไม้ล้มลุกหลายปีหรือไม้กึ่งพุ่ม ลำต้นมักห้อยลง มีเนื้อไม้ สูงได้ถึง ๗๐ ซม. แตกกิ่งค่อนข้างมาก ชูขึ้น ยาว ๑๕-๒๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๕-๑.๕ ซม. เปลือกต้นขรุขระ สีน้ำตาลอมเทา ปลายกิ่งเปราะ หักง่าย ใบแก่มักแห้งเหี่ยว ติดทนอยู่ด้านล่างของกิ่งแขนง ส่วนโคนค่อนข้างแข็งคล้ายมีเนื้อไม้ แต่เปราะ

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากชิดกันแน่นหรือคล้ายเรียงเวียน ใบใกล้ยอดมี ๔-๘ คู่ เรียงถี่เป็นกระจุก รูปใบหอก กว้าง ๑.๔-๒.๕ ซม. ยาว ๒.๗-๗.๕ ซม.ปลายแหลม โคนสอบเรียว ขอบหยักมนแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมีขนต่อมหลายเซลล์กระจายทั่วไป ด้านล่างมีขนแบบขนแกะสีน้ำตาลหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น ก้านใบกว้าง ๒.๕-๕ มม. ยาว ๑.๒-๕ ซม. ขอบแผ่เป็นปีก ด้านล่างมีขนคล้ายใยแมงมุมสีน้ำตาลอ่อน และขนสีน้ำตาลอมส้มตลอดไปจนถึงเส้นกลางใบ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบ มี ๖-๒๐ ช่อ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ก้านช่อยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนแบบขนแกะสีน้ำตาลอมส้ม


แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว ๓-๙ มม.แต่ละดอกยาวไม่เท่ากัน เกลี้ยง ใบประดับรูปคุ่ม กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. ปลายมนเกลี้ยง สีเขียวอมน้ำตาล กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยหรือเกือบแยกจากกันเป็นอิสระ สีเขียวสด ขอบสีแดง เกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รูปรีถึงรูปขอบขนาน ยาว ๑-๑.๒ ซม. แฉกกลางกว้าง ๗-๘ มม. ปลายมนหรือแยกเป็นแฉกตื้นอีก ๒-๓ แฉก แฉกคู่ข้างอยู่ต่ำกว่า กว้าง ๕-๕.๕ มม. ปลายมน กลีบดอกรูประฆัง โคนเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. สีม่วงอ่อน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปกลมหรือรูปไข่กว้าง กว้าง ๐.๙-๑.๒ ซม. ยาว ๘-๙ มม. ปลายมนสีม่วง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร ยื่นออกมาด้านล่างของหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูรูปแถบ ยาวประมาณ ๖ มม. สีขาว ตรงกลางโค้ง อับเรณูสีขาวหรือสีขาวนวล กว้างและยาวประมาณ ๓ มม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสรเป็นหมันอยู่เกือบกึ่งกลางโคนหลอด รูปแถบ ยาว ๐.๕-๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนานถึงทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๓ มม. สีเหลืองนวล มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑ ซม. สีขาว มีขนต่อมกระจายทั่วไป ยอดเกสรเพศเมียรูปลิ้น ยาวประมาณ ๕ มม. สีขาว

 ผลแบบผลแห้งแตก ทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๘.๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. สีเขียวมีแต้มสีแดงเกลี้ยง เมื่อแก่บิดเป็นเกลียว มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน เมล็ดรูปคล้ายกระสวย ขนาดเล็กมีจำนวนมาก

 ชาหนุมานเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบบริเวณเกาะใกล้ฝั่งทะเลอันดามัน ตามหน้าผาหินปูนสูงชัน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๒๕๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม เป็นผลเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาหนุมาน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paraboea xylocaulis Triboun
ชื่อสกุล
Paraboea
คำระบุชนิด
xylocaulis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Triboun, Pramote
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (fl. 2002)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายเอกรัตน์ ธนูทอง