กล้วยไม้ในวงศ์ย่อยนี้ขึ้นอยู่ตามพื้นดินและอิงอาศัยอยู่บนต้นไม้ ลำต้นเจริญจากจุดยอดหรือเจริญจากจุดงอกทางด้านข้าง ใบซ้อนเวียนกันหรือพับซ้อนสลับกัน
ช่อดอกออกตามยอดหรือตามซอกใบ เป็นช่อกระจะมีหลายดอก หรือเป็นช่อสั้นมีดอกน้อย กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ ขนาดไล่เลี่ยกัน กลีบดอก ๒ กลีบ ขนาดเท่ากัน สั้นหรือเล็กกว่ากลีบเลี้ยง กลีบปากใหญ่หรือเล็กแตกต่างกันแต่ละสกุลเกสรเพศผู้มีอันเดียว อยู่ตอนบนด้านหน้าของเส้าเกสร มีฝาครอบเมื่อเรณูแก่จัดฝาครอบจะหลุดร่วงไป เรณูของกล้วยไม้วงศ์ย่อยนี้ผนึกตัวรวมกันเป็นกลุ่มเรณู ผิวกลุ่มเรณูเหมือนขี้ผึ้งฉาบเคลือบไว้ มีจำนวน ๒ หรือ ๔ กลุ่ม ลักษณะของกลุ่มเรณูต่างกันไปแต่ละสกุล มีรยางค์สั้น ๆ โยงติดกันอยู่บนก้านกลุ่มเรณู ถ้าไม่มีรยางค์กลุ่มเรณูที่ติดอยู่ที่ปลายก้านกลุ่มเรณู
กล้วยไม้ในวงศ์ย่อยนี้มีประมาณ ๓๑๙ สกุล ๔,๖๓๘ ชนิด ส่วนมากพบขึ้นในเขตร้อน ในเขตอบอุ่นเหนือของโลกพบน้อย ในประเทศไทยมีประมาณ ๗๒ สกุล ๒๘๖ ชนิด กล้วยไม้ที่มีดอกสวยงามและนำมาปลูกเลี้ยงกันบ้าง เช่น สกุลเอื้องกุหลาบ (Aerides), เอื้องแมลงปอ (Arachnis), เอื้องเข็ม (Ascocentrum), เอื้องปากเป็ด (Cymbidium), เอื้องม้าวิ่ง (Doritis), เอื้องเพชรหึง (Grammatophyllum), เอื้องออนซิเดียม (Oncidium), เอื้องโมก (Papilionanthe), เอื้องฟาเลนอปซิส (Phalaenopsis), เอื้องหวายแดง (Renanthera), เอื้องช้าง (Rhynchostylis), เอื้องหนวดพราหมณ์ (Seidenfadenia), เอื้องเสือโคร่ง (Staurochilus), เอื้องฟ้ามุ่ย (Vanda) และเอื้องพญาฉัททันต์ (Vandopsis) ฯลฯ
กล้วยไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจที่อยู่ในวงศ์นี้ก็คือ Vanilla planifolia Andr. ส่วนกล้วยไม้สกุล Cymbidium, Papilionanthe และ Vanda ได้นำมาผสมระหว่างชนิดเกิดเป็นพันธุ์ผสมปลูกกันแพร่หลายเป็นไม้ตัดดอกทางการค้า
นอกจากนั้น คำว่า กล้วยไม้ ยังเป็นชื่อที่ใช้เรียกพรรณไม้อื่นอีกหลายชนิด เช่น กล้วยไม้ [Helixanthera pulchra (DC.) Danser] ในวงศ์ Loranthaceae.