ง่าย้อยเป็นไม้ต้น สูง ๖-๓๐ ม. ลำต้นมักคดงอกิ่งค่อนข้างตั้งฉากกับลำต้น กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีเหลือง อมสีน้ำตาล กิ่งแก่มีขนประปราย เปลือกเรียบ สีน้ำตาลปนเทา
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๔-๘ ซม. ยาว ๑๕-๓๒ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือค่อนข้างทู่ โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เป็นมัน เกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑.๒-๑.๖ ซม. ปลายก้านบวม
ดอกแยกเพศต่างต้นหรือดอกแยกเพศต่างต้นแกมดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ แต่ละช่อมี ๕-๙ ดอก มีขนสีเหลืองอมน้ำตาลค่อนข้างหนาแน่น ก้านช่อดอกยาว ๐.๔-๑.๕ ซม. ดอกสีขาวอมเขียวอ่อน ดอกเพศผู้ค่อนข้างเล็ก ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ดอกตูมมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ด้านนอกมีขนสั้นสีเหลืองอมน้ำตาล กลีบดอก ๘ กลีบ รูปไข่กว้าง กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๔.๕ มม. มีขน เกสรเพศผู้ ๑๕-๓๐ เกสร ก้านชูอับเรณูมีขนหนาแน่น ช่อดอกเพศเมียเหมือนช่อดอกเพศผู้ แต่มีดอกน้อยกว่า ในช่อดอกเพศผู้ มีก้านช่อดอกอวบ ยาว ๐.๖-๑.๕ ซม. ดอกเพศเมียมีก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายดอกเพศผู้ แต่ขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย มีเกสรเพศผู้เป็นหมัน ๑๐-๑๖ เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลมค่อนข้างรี มีขนสั้นสีน้ำตาลหนาแน่น มี ๑ ช่อง
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๑๐ ซม. ผิวย่น มีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาล เปลือกแข็ง หนา ๓-๖ มม. เมล็ดทรงรูปไข่ เป็นเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๓ ซม. ก้านผลใหญ่และแข็ง ยาว ๐.๖-๑.๕ ซม.
ง่าย้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคใต้ พบตามป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๑,๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา และมาเลเซีย
ประโยชน์ น้ำมันที่ได้จากการบีบเมล็ด เรียกว่าน้ำมันกระเบา (chaulmoogra oil) ใช้เป็นยาแก้โรคเรื้อน โรคผิวหนัง โรคด่างขาว และใช้ทาแก้ปวดข้อและกล้ามเนื้อ แก้ข้ออักเสบรูมาทอยด์ ผลใช้เบื่อปลา.