ครามขน

Indigofera hirsuta L.

ไม้ล้มลุกมีเหง้าหรือไม้พุ่ม ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย ๕-๙ ใบ เรียงตรงข้ามรูปรีแกมรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ดอกรูปดอกถั่ว สีชมพูเข้มถึงแดง ผลแบบผลแห้งแตกลองแนว รูปแถบ เมล็ดเล็ก สีน้ำตาล

ครามขนเป็นไม้ล้มลุกมีเหง้าสูง ๓๐-๔๐ ซม. หรือเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๑.๕ ม. กิ่งอ่อน ใบ และช่อดอกมีขนรูปตัวที (T) ปลายทั่ง ๒ ข้างของขนขนาดไม่เท่ากัน

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียนยาว ๕-๑๐ ซม. ก้านใบยาว ๔-๗ ซม. แกนกลางยาว ๔-๕ ซม. หูใบเรียวยาว ๑-๒ ซม. ใบย่อย ๕-๙ ใบ เรียงตรงข้ามจากเล็กไปหาใหญ่ รูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. ปลายมนและมีติ่งสั้น โคนสอบมีขนทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๙ เส้น ก้านใบย่อยสั้น หูใบย่อยรูปเส้นด้าย ยาว ๑-๓ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ก้านช่อยาว ๔-๗ ซม. ใบประดับเรียวยาวประมาณ ๔ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. ดอกรูปดอกถั่ว ยาวประมาณ ๖ มม. กลีบเลี้ยงยาว ๖-๗ มม. มีขน โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดใกล้เคียงกัน กลีบดอก ๕ กลีบ สีชมพูเข้มถึงแดง กลีบกลางรูปรี กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๔-๕ มม. ด้านนอกมีขน กลีบคู่ข้างรูปขอบขนานปลายตัด กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปท้องเรือ เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร เชื่อมติด ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกมี ๙ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน อีก ๑ เกสร แยกเป็นอิสระรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เล็ก เรียวยาว มีขน มี ๑ ช่อง ออวุลประมาณ ๘ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโค้ง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปแถบ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. มีขน เมื่อแก่แตกตามรอยประสานเป็น ๒ ซีก เมล็ดเล็ก สีน้ำตาล มี ๖-๘ เมล็ด

 ครามขนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทั่วทุกภาคพบขึ้นในที่โล่งบริเวณชายป่า และทุ่งหญ้าที่สูงตั้งแตใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ออกดอก และเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบในเขตร้อนทั่วโลก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ครามขน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Indigofera hirsuta L.
ชื่อสกุล
Indigofera
คำระบุชนิด
hirsuta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม