เต็งหนามเป็นไม้ต้นผลัดใบหรือกึ่งผลัดใบ สูงได้ถึง ๒๐ ม. กิ่งอ่อนมีขนยาวประปราย เมื่อแก่เกือบเกลี้ยงลำต้นค่อนข้างมีหนาม เปลือกสีเทาอ่อนหรือสีน้ำตาลอมเทา ต้นอ่อนเปลือกเรียบ เมื่อแก่สีน้ำตาลเข้มและแตกเป็นร่อง
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๑๒ ซม. ยาว ๖-๒๖ ซม. มีขนาดเล็กลงไปทางปลายกิ่ง ปลายมนถึงแหลม อาจพบบ้างที่ปลายเว้าตื้นเล็กน้อย โคนกลมมนถึงแหลม พบบ้างที่เป็นกึ่งรูปหัวใจ ขอบเรียบหรือหยักมนตื้น แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ยกเว้นตามเส้นกลางใบ ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มถึงขนสั้นนุ่มหนาแน่นหรือเกือบเกลี้ยง มักมีนวลเส้นแขนงใบข้างละ ๑๖-๒๗ เส้น ค่อนข้างตรงและขนานกัน ปลายแยกเป็นง่ามไปถึงขอบใบและเชื่อมกันเป็นเส้นขอบใน เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๐.๖-๑.๒ ซม. เกลี้ยง ใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมชมพูก่อนร่วง หูใบรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ กว้างและยาวได้ถึง ๒ มม. มีขนแบบขนแกะสีออกขาว ร่วงเร็ว
ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกเป็นช่อกลม ออกตามซอกใบ หรือคล้ายช่อเชิงลด ออก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง แต่ละช่อมี ๑-๓ ผล รูปทรงกลมค่อนข้างแบน กว้างและยาว ๕-๙ มม. ปลายอาจแหลมทู่ มี ๒ พู ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกสีดำอมน้ำเงินผนังผลชั้นในค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. สีน้ำตาล กลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดสีน้ำตาลอมแดง รูปทรงค่อนข้างกลม กว้างและยาวประมาณ ๕ มม. หนาประมาณ ๓ มม. มีร่องทางด้านบน
เต็งหนามมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค พบในป่าดิบแล้งและป่าผลัดใบ ตามที่โล่งที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๕๐-๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เป็นผลเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย ภูฏาน ศรีลังกา เมียนมา จีนตอนใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ประโยชน์ เปลือกใช้เป็นสมุนไพร เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ใบใช้เลี้ยงสัตว์ ผลกินได้ แต่มีรสฝาด.