เคล็ดหนูเป็นไม้พุ่มหรือไม้พุ่มรอเลื้อย สูง ๒-๕ ม. ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามตรง เล็ก แหลม ยาวได้ถึง ๑ ซม.
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๐.๗-๑ ซม. ยาว ๑-๒.๕ ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนอ่อนนุ่ม เส้นแขนงใบ ข้างละ ๓-๔ เส้น เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบสั้น หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยม
ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปคนโท ปลายแยกเป็นแฉกเล็กสั้น ๆ ๔-๖ แฉก เกลี้ยง ติดแน่นเมื่อยังอ่อน และจะหลุดร่วงเมื่อแก่ กลีบดอกสีขาวถึงสีเหลืองอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๔-๖ แฉก รูปขอบขนานยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแฉกแหลม มีขนด้านใน เกสรเพศผู้ ๔-๖ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้น ติดด้านหลังอับเรณู รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงกระบอก มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรวมยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ถึงรูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. ผิวเรียบ มีรอยแผลเป็นของกลีบเลี้ยงที่ปลาย เมล็ด ๑-๒ เมล็ด รูปคล้ายทรงกระบอกสั้น กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม.
เคล็ดหนูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบแล้งที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๕๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน เป็นผลเดือนเมษายนถึงมิถุนายนในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.
ประโยชน์ เปลือกต้นและกิ่งอ่อนต้มนํ้ากินเป็นยาลดไข้และแก้บิด.