ตือเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้นมีข้อโป่งพอง มีรากยึดเกาะออกจากข้อ กิ่งมีขนยาวประปรายและขนกำมะหยี่
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปรีกว้าง สมมาตรหรือไม่สมมาตร กว้าง ๑๔-๑๘ ซม. ยาว ๒๒-๒๗ ซม. ปลายยาวคล้ายหางหรือเป็นติ่งแหลม โคนรูปหัวใจหรือเบี้ยว ขอบเป็นคลื่น แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนยาวประปราย ด้านล่างมีขนหนาแน่นกว่าด้านบน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น เกลี้ยง หรือมีขนยาวประปราย หรือขนกำมะหยี่ ก้านใบยาว ๐.๘-๑ ซม. มีขนยาวประปรายหรือมีขนแบบขนแกะ หูใบรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หุ้มยอดอ่อนและร่วงง่าย
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกคล้ายช่อหางกระรอก ห้อยลง รูปทรงกระบอก ออกตามซอกใบบริเวณปลายยอด ดอกอัดกันแน่นบนแกนช่อ ดอกเล็กสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลือง ไร้กลีบรวม ใบประดับย่อยแบบก้นปิด เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. ก้านใบประดับยาวประมาณ ๑.๓ มม. ช่อดอกเพศผู้กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๒๕-๓๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๔-๖ ซม. ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๓-๕ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๐.๒ มม. อับเรณูยาวประมาณ ๐.๔ มม. ช่อดอกเพศเมียกว้าง ๓-๕ มม. ยาว ๒๐-๓๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒-๑๐ ซม. ดอกเพศเมียมีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปสามเหลี่ยม มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียรูปดาว มี ๓-๕ แฉก มีขน
ช่อผลรูปทรงกระบอก กว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๒๕-๔๐ ซม. ห้อยลง ก้านช่อผลยาว ๓-๑๐ ซม. มีขนยาวประปราย ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๓ มม. อัดกันแน่นบนแกนเป็นช่อ ปลายผลมนกลม มียอดเกสรเพศเมียติดทน ผลสุกสีเหลือง เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
ตือมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นริมลำธารในป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์.