จิงจ้อเล็กชนิดนี้เป็นไม้เลื้อยล้มลุกหลายปีลำต้นเรียวเล็กทอดนอนไปตามพื้นดินหรือพันเลื้อย มีรากออกตามข้อ ผิวเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อย
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้างถึงรูปขอบขนานพบบ้างที่เป็นรูปเกือบกลมหรือคล้ายรูปไต กว้าง ๐.๕-๗.๕ ซม. ยาว ๐.๕-๑๐ ซม. ปลายแหลม มน หรือเว้าตื้น โคนเว้าลึกรูปหัวใจ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อยถึงเว้าลึกเป็น ๓ แฉก ในต้นเดียวกันมักพบใบหลายลักษณะ แผ่นใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๗ เส้น ก้านใบยาว ๐.๕-๗ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ มี ๑-๓ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๑-๙ ซม. ก้านดอกยาว ๑-๔ ซม. ใบประดับเล็กและแคบ ยาว ๑-๒ มม. ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เกลี้ยง ยาวไม่เท่ากัน กลีบนอก ๒ กลีบรูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปรี ยาว ๐.๕-๑ ซม. ปลายแหลมหรือมน กลีบโค้ง แผ่นกลีบคล้ายแผ่นหนังบางส่วนกลีบใน ๓ กลีบ รูปรีถึงรูปกลม ยาว ๐.๘-๑.๒ ซม. แผ่นกลีบบางกว่ากลีบนอก และขอบกลีบเป็นเยื่อบางกลีบดอกเกลี้ยง สีชมพูหรือสีม่วงอมชมพู เชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาว ๓-๔.๕ ซม. ปลายผายกว้างออก มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ ซม. ปลายเว้าเป็นแฉกตื้น ๕ แฉก กลางแฉกมีแถบกลางกลีบ ภายในหลอดกลีบดอกสีม่วงเข้ม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร โผล่ไม่พ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาวไม่เท่ากัน โคนก้านกว้างกว่าปลาย เชื่อมติดกับหลอดกลีบดอกเหนือโคนหลอดขึ้นมาประมาณ ๕ มม. บริเวณโคนก้านมีขน อับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๓ มม. จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลมเกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย อยู่ภายในหลอดกลีบดอก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม ๒ ตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๙ มม. มี ๔ เมล็ด รูปคล้ายรูปไข่ยาว ๓.๕-๔ มม. สีดำ เกลี้ยง
จิงจ้อเล็กชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามชายหาดและตามป่าชายหาด ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐ ม. ออกดอกตลอดปี ในต่างประเทศพบบริเวณชายฝั่งทะเลของมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก เช่น แอฟริกา มาดากัสการ์ อินเดีย ศรีลังกา เมียนมา จีน ไต้หวัน กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี ทางเหนือของออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก.