เคล็ดแม่ม่ายเป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๓ ม. แตกกิ่งมาก กิ่งออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก ตามกิ่งมีหนามแหลม ยาว ๐.๘-๒.๕ ซม. ออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกลับ กว้าง ๑.๒-๕ ซม. ยาว ๑.๘-๙.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนตัด มน หรือสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ มีขนทั้ง ๒ ด้าน โดยเฉพาะตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น เห็นชัดเจน ก้านใบยาว ๒-๖.๕ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปไข่ ยาว ๒-๔ มม. ร่วงง่าย
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ยาวประมาณ ๗ มม. ก้านช่อดอกยาว ๒-๓ มม. ก้านดอก ยาวประมาณ ๑ มม. ใบประดับเล็ก รูปสามเหลี่ยม ดอกเมื่อแรกบานสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น มีขนหนาแน่นทางด้านนอก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๕-๗ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่คอหลอดดอกระหว่างแฉกกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ทรงรูปไข่ กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๓-๓.๕ ซม. ผิวเป็นร่องตามยาวหลายร่อง ที่ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดทน ผนังผลหนาคล้ายแผ่นหนัง เมล็ดรูปทรงกลม แบน มีจำนวนมาก
เคล็ดแม่ม่ายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ มักพบขึ้นตามป่าบึงนํ้าจืดและป่าดิบชื้นที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนมีนาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่พม่าและภูมิภาคมาเลเซีย.