ตูบหมูบมดลิ่นเป็นกล้วยไม้ดินขนาดเล็ก เจริญทางด้านข้าง ลำต้นใต้ดินเป็นหัวสะสมอาหาร สีน้ำตาลทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี กว้าง ๐.๕-๑.๕ ซม. ยาว ๑-๒ ซม. อวบน้ำ รากสีขาวแกมสีน้ำตาล ออกเป็นกระจุกที่โคนลำต้นใต้ดิน ลำต้นเหนือดินตั้งตรง สีเขียวเข้มเป็นมัน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๓ มม. ความสูงรวมช่อดอก ๗-๒๕ ซม. ส่วนโคนเรียวแคบกว่าส่วนปลาย ผิวเรียบ
ใบเดี่ยว มี ๑-๓ ใบ ออกที่โคนลำต้นเหนือดินแผ่แนบติดกับพื้น เรียงเวียน รูปไข่ รูปเกือบกลม หรือรูปไต กว้าง ๑.๕-๕ ซม. ยาว ๑.๒-๔ ซม. ปลายแหลม มนหรือเป็นติ่งขนาดเล็ก โคนแผ่เป็นกาบหุ้มลำต้น ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนาและอวบน้ำ เส้นใบเห็นไม่ชัด ผิวด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมันหรือกึ่งโปร่งแสงด้านล่างสีจางกว่าเล็กน้อย เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอด ตั้งตรง ทั้งช่อยาว ๖-๑๕ ซม. แต่ละช่อมี ๒-๑๐ ดอก เรียงเวียนตามแกนช่อ ก้านช่อสีเขียวเข้ม ยาว ๔-๑๐ ซม. แกนช่อสีเขียวเข้ม ยาว ๒-๕ ซม. ใบประดับสีเขียวอ่อน รูปใบหอกแคบกว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๙-๑.๕ ซม. ปลายแหลม ใบประดับย่อยสีเขียวอ่อน รูปใบหอกหรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๐.๕-๑ มม. ปลายแหลม ก้านดอกและรังไข่ยาวรวมกัน ๑-๑.๖ ซม. ดอกขนาดเล็ก สีขาวแกมสีเขียวหรือสีเขียวแกมสีน้ำตาล ทยอยบานจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑.๕ ซม.
ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
ตูบหมูบมดลิ่นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออก และภาคกลาง พบขึ้นตามพื้นทรายที่ชื้นในป่าเต็งรังผสมก่อ ป่าดิบเขา และป่าสนเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดียและจีน.