ตึงเครือ

Rhaphidophora decursiva (Roxb.) Schott

ไม้เลื้อยล้มลุก กึ่งอิงอาศัย มีรากเกาะเลื้อย ใบเดี่ยว เรียงสลับกึ่งเรียงเวียน รูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่ ขอบหยักลึกสุดแบบขนนก กาบใบยาว ๒ ใน ๓ ของความยาวก้านใบ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกเดี่ยวหรือบางครั้งออกเป็นคู่ตามปลายกิ่งแขนง กาบช่อดอกสีเหลือง พบบ่อยที่ด้านนอกช่วงโคนสีเหลืองเข้ม รูปเรือ เมื่อกางออกรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ช่อดอกสีขาวนวลหรือสีเขียวอมเทา รูปทรงกระบอก ดอกสมบูรณ์เพศ ไร้กลีบรวม ช่อผลสีเขียวอมเทา รูปทรงกระบอก ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกรวยกลับแกมรูปทรงหกเหลี่ยม มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล เมล็ดรูปขอบขนาน มีจำนวนมาก

ตึงเครือเป็นไม้เลื้อยล้มลุก กึ่งอิงอาศัย ยาวได้ถึง ๒๐ ม. หรือมากกว่า มีรากเกาะเลื้อย ช่วงแรกขึ้นบนดิน ต่อมาขึ้นอิงอาศัย ลำต้นรูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๕ ซม. ปล้องยาว ๑-๒ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับกึ่งเรียงเวียน ห่างกันหลายข้อได้ถึง ๗ ข้อ เมื่ออ่อนรูปเกือบกลม กว้างประมาณ ๑๓ ซม. ยาวประมาณ ๑๖ ซม. ปลายแหลม ขอบเรียบ เมื่อเจริญเต็มที่รูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้าง ๔๐-๕๐ ซม. ยาว ๐.๖-๑ ม. ปลายแหลม โคนกึ่งรูปหัวใจ ขอบหยักลึกสุดแบบขนนก ข้างละ ๙-๑๕ หยัก ไม่สมมาตร หยักช่วงกลางใบกว้าง ๓-๕ ซม. ยาวประมาณ ๒๐ ซม. ปลายตัดและโค้งขึ้นบนเป็นรูปเคียว แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีเขียวอ่อน เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๕ เส้น เห็นชัด นูนทางด้านล่าง เส้นใบย่อยส่วนมากเรียงขนานกับเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว ๒๐-๔๐ ซม. เป็นร่องตื้นทางด้านบน ช่วงปลายก้านใบป่องเห็นไม่ชัด กาบใบยาว ๒ ใน ๓ ของความยาวก้านใบ ขอบเหี่ยวแห้งคาต้น บางข้อมีใบที่เปลี่ยนรูปเป็นเกล็ดหุ้มข้อ

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกเดี่ยวหรืออาจพบที่ออกเป็นคู่ตามปลายกิ่งแขนง กาบช่อดอกสีเหลือง พบบ่อยที่ด้านนอกช่วงโคนสีเหลืองเข้ม รูปเรือ เมื่อกางออกรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑๐-๑๒ ซม. ยาว ๑๗-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม ก้านช่อดอกสีเขียว รูปทรงกระบอก กว้าง ๑.๕-๓ ซม. ยาว ๑๑-๒๐ ซม. ช่อดอกสีขาวนวลหรือสีเขียวอมเทา รูปทรงกระบอก กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๑๕-๑๖ ซม. โคนเบี้ยว มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันรอบแกนช่อ ดอกสมบูรณ์เพศ ไร้กลีบรวม เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ยื่นออกมาในระยะดอกบานเต็มที่ ก้านชูอับเรณูแบน รูปแถบแกมรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๕ มม. อับเรณูสีเหลือง รูปขอบขนาน ยาวน้อยกว่า ๑ มม. แกนอับเรณูเรียว พูอับเรณูรูปทรงรี รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาวประมาณ ๕ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก แถบก้านยอดเกสรเพศเมียสีขาวอมเขียว รูปหกเหลี่ยมแกมรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลายตัด ยอดเกสรเพศเมียเป็นจุด

 ช่อผลสีเขียวอมเทา รูปทรงกระบอก กว้าง ๕-๕.๕ ซม. ยาว ๑๕-๒๐ ซม. ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกรวยกลับแกมรูปทรงหกเหลี่ยม กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑.๘ ซม. มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทนที่ปลายผล เมล็ดรูปขอบขนาน มีจำนวนมาก

 ตึงเครือมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๓๕๐-๑,๘๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ผลจะแก่ในปีถัดไป ในต่างประเทศพบที่จีน ทิเบต อินเดีย (อัสสัม) หมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบาร์ เนปาล ศรีลังกา บังกลาเทศ เมียนมา และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตึงเครือ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhaphidophora decursiva (Roxb.) Schott
ชื่อสกุล
Rhaphidophora
คำระบุชนิด
decursiva
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Schott, Heinrich Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Schott, Heinrich Wilhelm (1794-1865)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย และนางสาวกนกพร ชื่นใจดี