จิงจ้อเล็ก ๑

Hewittia malabarica (L.) Suresh

ไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี ทอดนอนไปตามพื้นดินหรือพันเลื้อย ลำต้นเป็นเหลี่ยม มีขน ใบเดี่ยวเรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกตามซอกใบ ดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีขาว กลางดอกและภายในหลอดดอกสีม่วงแดง ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลมแป้น สีน้ำตาลอ่อน มีกลีบเลี้ยงติดทนหุ้มรอบผล เมล็ดรูปคล้ายสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ สีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม มี ๔ เมล็ด

จิงจ้อเล็กชนิดนี้เป็นไม้เลื้อยล้มลุกหลายปีทอดนอนไปตามพื้นดินหรือพันเลื้อย ลำต้นเป็นเหลี่ยมมีขน

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๓.๕-๑๐ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม และมีติ่งหนามสั้น โคนเว้ารูปหัวใจ ตัด หรือรูปเงี่ยงใบหอกขอบเรียบ เป็นคลื่นหรือเว้าเป็นพูใกล้โคนใบ แผ่นใบเกือบเกลี้ยงหรือมีขนยาวประปรายทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น ก้านใบยาว ๑-๕ ซม. มีขนสั้นนุ่ม

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ มี ๑-๓ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๓-๑๐ ซม. มีขน ก้านดอกยาว ๒-๔ มม. มีขน ใบประดับ ๒ ใบ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม มีขน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ด้านนอกและตามขอบมีขน แผ่นกลีบมีเส้นกลีบแบบร่างแหเห็นเด่นชัดเมื่อเป็นผล กลีบนอก ๒ กลีบ รูปไข่กว้างกว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. กลีบที่ ๓ รูปไข่เบี้ยว กว้างประมาณ ๖ มม. ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. ทั้ง ๓ กลีบขยายใหญ่และติดทนเมื่อเป็นผล ส่วนกลีบด้านในอีก ๒ กลีบ รูปคล้ายใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. กลีบดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายรูประฆังหรือรูปกรวย ยาว ๒.๕-๓ ซม. ปลายผายกว้าง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๓.๕ ซม. ปลายเว้าเป็นแฉกตื้น ๕ แฉก แฉกโค้งมน ปลายแฉกอาจเว้าเล็กน้อยและมีติ่งหนาม มีแถบกลางกลีบซึ่งมีขนยาวประปรายทางด้านนอก ภายในหลอดกลีบดอกสีม่วงแดง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาวประมาณ ๑ ซม. โผล่ไม่พ้นปากหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูติดที่โคนหลอด โคนก้านกว้างกว่าปลายและมีขนสีขาว อับเรณูรูปคล้ายรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ คล้ายทรงรูปไข่ มีขนอุย มี ๑ ช่อง หรือช่วงบนคล้ายมี ๒ ช่อง มีออวุล ๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย อยู่ภายในหลอดกลีบดอก ยอดเกสรเพศเมีย ๒ ยอด รูปขอบขนานแกมรูปไข่ แบน

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลมแป้นสีน้ำตาลอ่อน กว้าง ๘-๑๐ ซม. มีขน มีกลีบเลี้ยงติดทนหุ้มรอบผล เมล็ดรูปคล้ายสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ กว้างและยาว ๔-๖ มม. สีดำถึงสีน้ำตาลเข้ม ค่อนข้างเกลี้ยงมี ๔ เมล็ด

 จิงจ้อเล็กชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบทั่วไปตามที่โล่งแจ้งและตามป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่แอฟริกาเขตร้อน เอเชียเขตร้อน หมู่เกาะโปลินีเซีย และหมู่เกาะแปซิฟิก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จิงจ้อเล็ก ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hewittia malabarica (L.) Suresh
ชื่อสกุล
Hewittia
คำระบุชนิด
malabarica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Suresh, C. R.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Suresh, C. R. (fl. 1988)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา