ตุ้มดอยชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๒๐-๔๐ ซม. ลำต้นมีขนประปราย
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๓-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบเรียวขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกือบเกลี้ยงหรือมีขนสาก ด้านล่างเกือบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มเส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๒ เส้น ก้านใบยาวได้ถึง ๑ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง โปร่ง ออกที่ปลายยอด ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น วงใบประดับรูประฆังกว้าง กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ประมาณ ๕ มม. ช่อย่อยมีแต่ดอกย่อยวงในแบบเดียว มีใบประดับคล้ายใบ เรียงเป็น ๔-๕ ชั้น ซ้อนเหลื่อม ชั้นนอกและชั้นกลางรูปขอบขนานแกมรูปแถบ ปลายแหลม ผิวค่อนข้างเกลี้ยง ชั้นในรูปใบหอกแกมรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ปลายมน ผิวค่อนข้างเกลี้ยง ฐานดอกร่วมนูนเล็กน้อย เกลี้ยง ดอกย่อยเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีประมาณ ๒๐ ดอก กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นขนแข็ง ติดทน กลีบดอกสีม่วง โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด เกลี้ยง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนาน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อับเรณูติดกันทางด้านข้างและหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกระบอก ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก เรียวยาว โผล่พ้นหลอดกลีบดอก
ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน รูปกระสวย ยาวประมาณ ๓ มม. มีสัน ๑๐ สัน เกลี้ยง และมีกลีบเลี้ยงติดทนแบบแพปพัสลักษณะเป็นขนแข็ง เรียง ๒ ชั้น ชั้นนอกสั้น ชั้นในยาวประมาณ ๕ มม. สีขาว มีเมล็ด ๑ เมล็ด
ตุ้มดอยชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๗๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม.