จิงจ้อม่วงเป็นไม้เลื้อยเนื้อแข็ง ยาว ๔-๘ ม. มีขนหยาบแข็งสีเหลือง ปลายชี้ลง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ กว้าง ๔.๕-๑๐ ซม. ยาว ๖-๑๕ ซม. ปลายมนหรือแหลม ปลายสุดเป็นติ่งแหลมอ่อน โคนมนหรือตัด พบน้อยที่เว้าตื้น ขอบเรียบแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขนเล็กน้อยตามเส้นกลางใบ ด้านล่างมีขนอุยประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๙ เส้น เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบเรียว ยาว ๑.๕-๗.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ก้านช่อดอกสั้นกว่าก้านใบที่รองรับช่อดอก ยาว ๐.๕-๒ ซม. เกลี้ยง ใบประดับรูปขอบขนานแกมรูปแถบ ยาว ๒-๔ มม. ร่วงง่าย ก้านดอกยาวประมาณ ๔ มม. หรือไร้ก้านดอกสีชมพู ภายในหลอดกลีบดอกสีม่วงแดง กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน กลีบนอก ๒ กลีบ รูปใบหอกกว้างหรือรูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๓.๕ มม. ยาว ๔-๕ มม. ด้านนอกมีขนคล้ายไหมหนาแน่นแต่แข็งกลีบใน ๓ กลีบ รูปไข่กว้างหรือรูปรี กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ขอบเรียบ กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. ปลายแยกเป็นแฉกตื้น ๕ แฉก ปลายแฉกมน สีชมพู ด้านนอกของแถบกลางกลีบมีขนหยาบแข็งสีเหลือง ด้านในเกลี้ยง ภายใน
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีกว้าง ๗-๙ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. สีม่วงแดงอมชมพู มีกลีบเลี้ยงติดทนขยายใหญ่รองรับผล มี ๑-๔ เมล็ด
จิงจ้อม่วงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย.