ขี้ตุ่น

Helicteres angustifolia L.

ชื่ออื่น ๆ
เข้ากี่น้อย (ตะวันออก); ปอขี้ไก่, ไม้หมัด, ปอเต่าไห้ (ตะวันออกเฉียงเหนือ); ปอมัดโป (ตะวันออกเฉียงใต้
ไม้พุ่ม ใบเรียงเวียน รูปขอบขนาน รูปรีหรือรูปใบหอก มีขน ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตามง่ามใบ ดอกสีน้ำเงินอมม่วง ผลแบบผลแห้งแตก รูปรีแกมรูปขอบขนาน

ขี้ตุ่นเป็นไม้พุ่มเตี้ย สูง ๑-๒ ม. มีขนสากทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนาน รูปรีหรือรูปใบหอก กว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๓-๑๕ ซม. ปลายค่อนข้างมนหรือเรียวแหลม โคนมนหรือค่อนข้างมน ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนา มีขนสากทั้ง ๒ ด้าน แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่า มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๗ เส้น เส้นใบย่อยมีทั้งเส้นร่างแหและเส้นขั้นบันได ทั้งเส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นได้ชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะสั้น ออกตามง่ามใบ ยาวประมาณ ๒ ซม. โคนก้านช่อมีใบประดับรูปแถบหรือรูปใบหอกเล็ก ร่วงง่าย ดอกสีน้ำเงินอมม่วง กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๕ แฉก ยาวไม่เท่ากัน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปใบหอกกลับ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. เกสรเพศผู้ ๒๐ อัน เป็นหมัน ๕ อัน ติดตามขอบก้านเกสรร่วมรูปแตรงอนที่ยาวประมาณ ๗ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ ยาวประมาณ ๑ มม. มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก มีขนแน่น ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวไล่เลี่ยกันกับรังไข่

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปรีแกมรูปขอบขนาน มี ๕ พู กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑-๒ ซม. มีขนเป็นกำมะหยี่ ก้านผลยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เมล็ดกลมเล็ก สีดำ มีจำนวนมาก

 ขี้ตุ่นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าแดงที่ดินค่อนข้างเป็นกรวดทราย ตามเขาหินปูน ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐๐-๘๕๐ ม. ในต่างประเทศพบตั้งแต่จีนตอนใต้ อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

 ปลูกเป็นพืชคลุมดินและใช้เปลือกทำเชือกแทนปอ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้ตุ่น
ชื่อวิทยาศาสตร์
Helicteres angustifolia L.
ชื่อสกุล
Helicteres
คำระบุชนิด
angustifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
เข้ากี่น้อย (ตะวันออก); ปอขี้ไก่, ไม้หมัด, ปอเต่าไห้ (ตะวันออกเฉียงเหนือ); ปอมัดโป (ตะวันออกเฉียงใต้
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย