เคลงหู่เป็นไม้พุ่มอิงอาศัย สูง ๐.๕-๓ ม. กิ่งอ่อนมีปุ่มเล็ก ๆ ลำต้นหรือกิ่งแก่มีเปลือกเรียบ สีเทาหรือสีนํ้าตาลอ่อน ส่วนของรากอาจโป่งออกมีลักษณะคล้ายหัว
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๘ ซม. ยาว ๕-๑๗ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือเป็นติ่งแหลมอ่อน โคนสอบหรือมนกลมและมีติ่งขนาคเล็ก ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเรียบเป็นมันด้านล่างมีปุ่มเล็กสีนํ้าตาล เส้นแขนงใบข้างละ ๒ เส้น เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได เส้นใบด้านข้าง โค้งเชื่อมต่อกันใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว ๐.๒-๑.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง มีดอกจำนวนมาก ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๐ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑-๔.๕ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ทุกส่วนมีปุ่มเล็กสีนํ้าตาล ใบประดับและใบประดับย่อยมีขนาดเล็ก ฐานดอกรูปถ้วย กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๑.๕-๒ มม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันและติดกับขอบฐานดอก ปลายแยกเป็นแฉกเล็กรูปสามเหลี่ยมค่อนข้างหนา ๔ แฉก กลีบดอกบางสีส้ม มี ๔ กลีบ รูปไข่กลับหรือรูปรี ยาวประมาณ ๒-๓ มม.
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๗ มม. มีปุ่มเล็ก ๆ สีน้ำตาล ผลสุกสีส้มหรือสีแดง เมล็ดจำนวนมาก
เคลงหู่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ทางภาคใต้ พบขึ้นตามคบไม้ในป่าดิบ อาจพบได้ในสวนยางพาราบริเวณที่ติดกับชายป่า หรือพบขึ้นบนหินในพื้นที่โล่งบนภูเขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึง ประมาณ ๗๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปีในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว และเกาะต่าง ๆ ในภูมิภาคมาเลเซีย.