ตีนเป็ดป่าเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๑.๕-๖ ม. กิ่งมักเป็นเหลี่ยม
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓.๕-๙ ซม. ยาว ๑๓-๒๓ ซม. ปลายแหลมหรือมน โคนสอบแหลม รูปลิ่ม หรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง มีต่อมเล็กสีดำจำนวนมาก เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๔ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปก่อนใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกที่ยอดหรือตามปลายกิ่ง ช่อโปร่ง ช่อดอกยาว ๑๐-๒๕ ซม. ช่อแขนงยาว ๑-๓ ซม. แต่ละช่อแขนงมี ๓-๑๐ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่ กว้าง ๑-๒ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายมนหรือแหลม ด้านนอกมีขนและต่อมเล็ก ๆ กลีบดอกสีม่วง ยาวประมาณ ๗ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายมนหรือแหลม ผิวมีต่อมเล็ก ๆ กระจายทั่วไป เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่หลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปใบหอก ยาวประมาณ ๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงค่อนข้างกลม มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๕-๗ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ มม. เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
ตีนเป็ดป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา.