ขี้ช้างเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง ๓–๕ เมตร หรือบางครั้งใช้กิ่งแขนงที่มีหนามงองุ้มขนาดเล็ก เกาะเกี่ยวขึ้นไปคลุมยอดต้นไม้ใหญ่ กิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกเกลี้ยงหรือมีขนสั้น
ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น แกนกลางใบยาว ๑๑-๒๓ ซม. ก้านใบยาว ๔.๕-๗ ซม. มีต่อม ๑ ต่อม ห่างจากโคนก้าน ๒-๔.๕ ซม. แขนงใบประกอบ ๕-๑๔ คู่ ยาว ๕-๑๑ ซม. แต่ละคู่มีต่อม ๑ ต่อม ใต้บริเวณรอยต่อของแกนกลางย่อย ยกเว้น ๑ หรือ ๒ คู่ปลายสุด แต่ละแขนงมีใบย่อย ๒๐-๖๒ คู่ ออกตรงข้ามกัน ใบย่อยรูปขอบขนานแคบ กว้าง ๑.๒-๒.๘ มม. ยาว ๐.๖-๑.๓ ซม. โคนเบี้ยว ปลายแหลม ก้านสั้น
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามปลายกิ่ง ดอกเล็กมาก สีขาวนวล กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยก ๕ แฉก รูปไข่หรือรูปรีปลายแหลม ยาวประมาณ ๑ มม. มีขน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่หรือรูปรี ปลายแหลม ยาว ๒-๓ มม. มีขนประปรายที่ปลายแฉก เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูไม่ติดกัน อับเรณูมีต่อมที่ปลาย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีก้านยาวประมาณ ๑ มม. มีขนหนาแน่น มี ๑ ช่อง
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนานแคบ แบนบาง กว้าง ๓.๕-๕ ซม. ยาว ๑๘-๒๕ ซม.
ขี้ช้างมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามชายป่าหรือที่โล่งในป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐-๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย.