เคลงหินเป็นไม้พุ่มอิงอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่นหรือบนหิน สูง ๐.๕-๑ ม. กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม เกลี้ยง ผิวเรียบหรือเป็นตุ่ม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๗-๑๗ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปติ่งหู ขอบเรียบและใส แผ่นใบเกลี้ยง ทั้ง ๒ ด้าน ค่อนข้างอวบน้ำ ด้านบนมีจุดเล็กประปรายด้านล่างมีจุดเล็กกว่ากระจายทั่วแผ่นใบ เส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านบน ก้านใบยาว ๒-๕ มม. เกลี้ยง
ช่อดอกแบบช่อกระจุก มีดอกน้อย หรืออาจพบเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ออกตามซอกใบหรือตามข้อที่ไม่มีใบ ยาว ๑.๕-๒.๕(-๓.๕) ซม. ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๕ มม.หรือไม่มี ก้านดอกยาว ๐.๓-๑(-๑.๕) ซม. ฐานดอกรูปถ้วยคล้ายระฆัง ยาว ๔-๗ มม. เกลี้ยง โคนเป็นตุ่ม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกันและติดกับขอบฐานดอก ปลายแยกเป็นหยักซี่ฟันไม่ชัดเจน ๔-๕ หยัก ยาว ๑-๒ มม. หรือขอบเรียบ กลีบดอกสีชมพูอ่อนมี ๔-๕ กลีบ เมื่อใกล้โรยเปลี่ยนเป็นสีขาว รูปไข่กลับ กว้าง ๔-๘ มม. ยาว ๑-๑.๔ ซม. ค่อนข้างบาง มีเส้นตามยาว เกสรเพศผู้ ๘ หรือ ๑๐ เกสร มีรูปร่างเหมือนกันเรียงเป็น ๒ วง วงนอกยาวกว่าวงใน ก้านชูอับเรณูเรียวและโค้ง ยาว ๐.๖-๑ ซม. อับเรณูโค้งงอ สีชมพูอ่อน ยาว ๐.๖-๑ ซม. มีช่องเปิดที่ปลาย ๑ ช่อง โคนแกนอับเรณูเป็นติ่งเล็ก สีเหลือง ๒ ติ่ง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๓ ใน ๔ ของความยาวฐานดอกรูปถ้วย มี ๔-๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๑-๑.๔ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแหลม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปค่อนข้างกลมหรือรูปคล้ายคนโท เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ มม. ผนังผลบาง เกลี้ยง สีชมพูถึงสีแดง ก้านผลยาว ๐.๕-๑.๗ ซม. ผิวเป็นตุ่ม เมล็ดทรงรูปไข่ ยาว ๐.๕-๑ มม. มีจำนวนมาก
เคลงหินมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบชื้น ป่าพรุหรือป่าดิบเขา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑,๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงกุมภาพันธ์ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า จีน และคาบสมุทรมลายู.