ช้าสาน

Rhynchotechum obovatum (Griff.) B. L. Burtt

ชื่ออื่น ๆ
หนาดดง (เชียงใหม่)
ไม้พุ่มหรือไม้กึ่งพุ่ม เป็นลำเดี่ยว ไม่แตกกิ่ง แตกกิ่งน้อย หรือแตกเป็นกอจากโคนต้นใกล้ผิวดิน ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามหรือเรียงเวียน อาจพบบ้างที่เรียงสลับใกล้โคนต้น รูปไข่กลับ รูปไข่กลับแคบ รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแคบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบ พบบ้างที่เกิดเหนือรอยแผลใบ ดอกสีขาว สีขาวอมเขียว หรือสีชมพูอ่อน ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด คล้ายทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี เมล็ดรูปทรงค่อนข้างรี ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

ช้าสานเป็นไม้พุ่มหรือไม้กึ่งพุ่ม สูง ๐.๓-๓ ม. เป็นลำเดี่ยว ไม่แตกกิ่ง แตกกิ่งน้อย หรือแตกเป็นกอจากโคนต้นใกล้ผิวดิน เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ๐.๕-๑.๕ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเรียงเวียน อาจพบบ้างที่เรียงสลับใกล้โคนต้น รูปไข่กลับ รูปไข่กลับแคบรูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแคบ กว้าง ๔.๗-๘ ซม. อาจพบกว้างได้ถึง ๒๐ ซม. ยาว ๗.๕-๒๖ ซม. อาจพบยาวได้ถึง ๔๐ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลมโคนรูปลิ่มแคบ ขอบหยักซี่ฟันถี่ หยักยาวประมาณ ๒ มม. เส้นแขนงใบข้างละ ๑๓-๒๔ เส้น แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยงหรือมีขนสีขาวประปรายบริเวณเส้นกลางใบมีขนค่อนข้างหนาแน่นจนเห็นเป็นสีนวล ด้านล่างสีเขียวอ่อน มีขนแบบขนแกะสีเหลืองอมแดงคล้ายสีสนิมค่อนข้างหนาแน่นบริเวณเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว ๒.๒-๖ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบ พบบ้างที่เกิดเหนือรอยแผลใบ ช่อสีเขียวอมสีน้ำตาลอ่อน ยาว ๒.๕-๙ ซม. หรือยาวได้ถึง ๑๔ ซม. แตกแขนง ๒-๕ แขนง มีดอกจำนวนมาก ก้านช่อยาว ๐.๘-๓ ซม. หรืออาจยาวได้ถึง ๗ ซม. แขนงแรกยาว ๑-๓.๕ ซม. แขนงที่ ๒ ยาว ๐.๔-๒ ซม. แกนกลางมีขนอุยคล้ายไหมสีเหลืองอมแดงหนาแน่น ใบประดับรูปแถบหรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม ปลายแหลม ใบประดับย่อยยาว ๐.๓-๑ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๑-๑ ซม. มีขนอุยคล้ายไหมสีเหลืองอมแดงหนาแน่น ดอกสีขาวสีขาวอมเขียว หรือสีชมพูอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมกว้าง ๐.๘-๑.๕ มม. ยาว ๒-๔ มม. ปลายมนหรือพบน้อยที่ยาวคล้ายหาง มีขนคล้ายไหมสีเหลืองอมแดงหนาแน่น พบน้อยที่เกลี้ยง กลีบดอกรูปปากเปิด โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดคล้ายรูประฆัง ยาว ๑.๗-๒.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๒ ซีก ซีกบนมี ๒ แฉก โคนแฉกมีแถบสีน้ำตาลอมแดงหรือสีม่วงแดง ปลายแฉกมักพับม้วนกลับออกด้านนอก ซีกล่างมี ๓ แฉก ทั้งหมดรูปครึ่งวงกลมหรือรูปเกือบกลม กว้าง ๑-๒.๕ มม. ยาว ๑-๓.๕ มม.


ปลายมนกลม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ที่โคนหลอดกลีบดอก ที่สมบูรณ์มี ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๗-๑ มม. บิดงอเล็กน้อย อับเรณูสีขาวนวลถึงสีเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑.๓ มม. มีขนต่อมละเอียดประปรายเกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๑ เกสรเป็นหมันและลดรูป ยาวประมาณ ๐.๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๑-๒ มม. เกลี้ยง พบน้อยที่มีขนประปราย มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสีขาวหรือสีเขียวอ่อน ยาว ๓.๕-๖ มม. โผล่พ้นกลีบดอกชัดเจน ยอดเกสรเพศเมียปลายตัดหรือเป็นตุ่มมนสีขาว

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด คล้ายทรงรูปไข่หรือทรงรี กว้างและยาว ๒.๕-๕ ซม. เกลี้ยงเมล็ดรูปทรงค่อนข้างรี ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ช้าสานมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามที่ร่มรำไร และค่อนข้างชื้นในป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐๐-๒,๑๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปีในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา จีนและภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ช้าสาน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rhynchotechum obovatum (Griff.) B. L. Burtt
ชื่อสกุล
Rhynchotechum
คำระบุชนิด
obovatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William
- Burtt, Brian Laurence
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William (1810-1845)
- Burtt, Brian Laurence (1913-2008)
ชื่ออื่น ๆ
หนาดดง (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ