เคลงย้อยเป็นไม้พุ่มอิงอาศัย สูง ๑-๒ ม. ลำต้นและกิ่งมีเปลือกเรียบสีเทา กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง ๕-๑๒ ซม. ยาว ๙.๕-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือแหลมถึงมน โคนกลมหรือเว้ารูปหัวใจโอบลำต้น ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นด้านข้างใบแยกจากเส้นกลางใบใกล้โคนใบโค้งเชื่อมต่อกันใกล้ปลายใบ ก้านใบยาวได้ถึง ๑.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ห้อยลง ออกตามซอกใบ ยาว ๑๒-๓๒ ซม. มี ๕-๑๕ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๕-๑๖ ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยมี ขนาดเล็ก กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก โคนเชื่อมติดกันเป็นฐานดอกรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกสีขาวหรือสีขาวอมชมพู มี ๕ กลีบ รูปไข่กลับ ยาว ๗-๙ มม. ปลายตัด โคนสอบ เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ก้านชูอับเรณูสีเหลือง ยาว ๔-๕ มม. มีช่องเปิดตรงปลาย ๑ ช่อง อับเรณูสีเหลืองอ่อน รูปใบหอกแคบ โค้ง ยาว ๔-๕ มม. โคนมีติ่งขนาดเล็ก ๒ ติ่ง โคนแกนอับเรณูด้านหลังมีเดือยสีม่วงขนาดเล็ก ๑ อันรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปคล้าย ระฆัง ยาวประมาณ ๔ มม. มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสีขาว ยาว ๖-๗ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูประฆังเส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๘ มม. สุกสีขาวอมชมพู เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก
เคลงย้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามพื้นที่โล่ง ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๑,๒๐๐-๑,๗๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมลายูและอินโดนีเซีย.