ตีนเป็ดแคระเป็นไม้พุ่ม มีน้ำยางสีขาวคล้ายน้ำนม
ใบเดี่ยว เรียงเป็นวง วงละ ๓-๔ ใบ รูปรีแคบหรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๐.๘-๒.๓ ซม. ยาว ๕-๑๒ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือเป็นครีบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เส้นกลางใบสีเขียวนวลหรือสีเขียวแกมสีแดง เส้นแขนงใบเรียงถี่ข้างละ ๒๔-๕๒ เส้น มีต่อมที่ซอกใบ ก้านใบยาว ๐.๔-๒ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายยอดหรือซอกใบใกล้ปลายยอด ยาว ๔.๖-๖ ซม. มีดอกน้อย ก้านช่อดอกยาวได้ถึง ๑ ซม. ก้านดอกยาว ๗-๙ มม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. มีส่วนป่องค่อนไปทางปลาย มีขนสั้นนุ่มบริเวณปากหลอดและภายในหลอดบริเวณที่ป่องออก ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก กางออกในแนวระนาบ รูปรี กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม แฉกกลีบซ้อนเหลื่อมไปทางซ้าย เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอกบริเวณที่ป่องออก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปใบหอก จานฐานดอกเป็นวง มี ๒ หยัก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่ แยกจากกัน แต่ละรังไข่ยาวประมาณ ๑.๘ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกันเป็นเส้น ยาวประมาณ ๑ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มรูปคล้ายกระสวย
ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่ ไม่กางออกจากกันมาก รูปทรงกระบอกแคบ กว้าง ๓-๔ มม. ยาวประมาณ ๙ ซม. ปลายสอบแหลม เมล็ดค่อนข้างแบน รูปทรงรีหรือรูปขอบขนาน ปลายมน กว้าง ๑.๕-๒.๕ มม. ยาว ๕.๗-๙ มม. ที่ปลายมีขนครุยจำนวนมาก ยาวประมาณ ๒.๕ มม.
ตีนเป็ดแคระเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคใต้ ตามเกาะที่เป็นหินปูนและตามหน้าผา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี.