จิงจ้อน้อย

Thunbergia similis Craib

ชื่ออื่น ๆ
จุกโรหินี (จันทบุรี); ชะลูดหนู (กรุงเทพฯ); หนามแน่ดงขาว (เชียงใหม่)
ไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม มีขนประปราย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปใบหอกหรือรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือออกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแตกเป็น ๒ ซีก สีเขียวเข้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล รูปค่อนข้างกลม ปลายมีจะงอยรูปกรวย มี ๔ เมล็ด รูปทรงกลมแกมทรงรูปไข่

จิงจ้อน้อยเป็นไม้เลื้อยล้มลุกหลายปี ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม สีเขียวหรือสีเขียวอมน้ำตาล มีขนประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปใบหอกหรือรูปใบหอก กว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๒.๕-๙ ซม. ปลายแหลมหรือมน มีติ่งแหลมอ่อนที่ปลาย โคนรูปลิ่ม มน หรือกึ่งรูปหัวใจ ขอบเรียบและมีขนครุย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนมีขนประปราย ด้านล่างเกลี้ยง มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ปลายโค้งขึ้นจดกับเส้นถัดไป ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๘ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือออกเดี่ยวตามซอกใบ มี ๑-๔ ดอก ก้านดอกยาว ๑.๙-๔.๕ ซม. เป็นร่องปลายโป่ง มีขนประปราย ใบประดับย่อย ๑ คู่ มีลักษณะคล้ายใบ สีเขียวอ่อน รูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๑-๑.๗ ซม. ปลายแหลมโคนมนหรือกลม ขอบมีขนครุย แผ่นใบประดับมีขนสั้น


นุ่มประปราย กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นปลายแยกเป็น ๑๐ แฉก พบน้อยที่มี ๑๒ แฉก แต่ละแฉกรูปใบหอกแคบ กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาว ๒-๓ มม. ปลายแหลม มีขนสั้นนุ่ม ขอบมีขนครุยสั้น กลีบดอกสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด รูปทรงกระบอก ยาว ๑.๘-๒.๔ ซม. ด้านนอกเกลี้ยง ปลายกางออกแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกมีขนาดใกล้เคียงกัน รูปไข่กลับหรือรูปหัวใจกลับ กว้าง ๑.๘-๒.๖ ซม. ยาว ๑.๘-๒ ซม. ปลายแฉกหยักมนตื้น ๒-๓ หยัก เกสรเพศผู้ ๔ เกสร มี ๒ คู่ ยาวไม่เท่ากัน ติดใกล้โคนหลอดกลีบดอก โคนเชื่อมติดกันและมีติ่งหนามก้านชูอับเรณูคู่สั้น ยาว ๒.๕-๒.๘ มม. ก้านชูอับเรณูคู่ยาว ยาวประมาณ ๖ มม. อับเรณูสีนวล รูปรีแคบหรือรูปใบหอก ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ สีขาว มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสีขาว เกลี้ยง ยาว ๒.๒-๒.๖ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก แต่ละแฉกยาวประมาณ ๑ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตกเป็น ๒ ซีก สีเขียวเข้ม เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล รูปค่อนข้างกลม กว้างและยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายมีจะงอยรูปกรวย ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. เกลี้ยง มี ๔ เมล็ด รูปทรงกลมแกมทรงรูปไข่เป็นร่องที่ฐาน

 จิงจ้อน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบเขา ป่าไม้ก่อ-ไม้สน ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง เป็นไม้พื้นล่างที่มักพบขึ้นบริเวณแสงส่องถึง เช่น บริเวณที่เปิดโล่งภายในป่าหรือตามชายป่า ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนตุลาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่ลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จิงจ้อน้อย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Thunbergia similis Craib
ชื่อสกุล
Thunbergia
คำระบุชนิด
similis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
จุกโรหินี (จันทบุรี); ชะลูดหนู (กรุงเทพฯ); หนามแน่ดงขาว (เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายปกรณ์ ทิพยศรี