เคลงใบเวียนเป็นไม้เลื้อย มีรากยึดเกาะ กิ่งรูปทรงกระบอก ผิวเรียบหรือเป็นร่อง เกลี้ยง บริเวณข้ออาจจะป่อง เปลือกมีลายเป็นริ้วหรือเป็นตุ่มเล็ก
ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบข้อ ๔-๕ ใบ รูปไข่กลับหรือรูปรี กว้าง ๓-๖.๕ ซม. ยาว ๗-๑๖ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบและเป็นครีบไปตามก้านใบขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ ๑ เส้นออกใกล้โคนเส้นกลางใบ เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑.๕-๓ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกเหนือรอยแผลใบ ทั้งช่อยาวได้ถึง ๓ ซม. มี ๖-๘ ดอก ก้านช่อ ยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยเล็กมากและร่วงง่าย ก้านดอกยาวประมาณ ๕ มม. ฐานดอกรูปถ้วย ความยาวรวมกลีบเลี้ยง ๐.๗-๑ ซม. เกลี้ยงส่วนล่างของฐานดอกรูปถ้วยเชื่อมติดกับส่วนล่างของรังไข่ เหนือขึ้นไปแยกอิสระจากรังไข่เป็นแอ่งเกสรเพศผู้ซึ่งอยู่ตํ่ากว่าช่วงกลางของรังไข่ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกับขอบฐานดอก ปลายหลอดกลีบเลี้ยงตัดตรงและมีติ่งแหลม กลีบดอกสีขาวหรือสีชมพู ค่อนข้างหนา มี ๔ กลีบ รูปขอบขนาน ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายมนเกสรเพศผู้ ๘ เกสร มี ๒ วง วงนอกติดในแอ่งเกสรเพศผู้ ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. วงในติดที่โคนกลีบดอก ยาว ๗-๙ มม. อับเรณูโค้ง โคนแกนอับเรณูด้านนอกมีเดือย รูปช้อน ยาวประมาณ ๒ มม. และด้านในเป็นพูโป่งพอง ๒ พู ยาวประมาณ ๑.๕ มม. รยางค์ของแกนอับเรณูด้านนอกสั้นกว่ารยางค์ของแกนอับเรณูด้านใน รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๓ ใน ๔ ของฐานดอกรูปถ้วย มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๖ มม. ยอดเกสรเพศเมียแหลม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปคล้ายโถกว้างประมาณ ๑ ซม. ปลายมีขอบของวงกลีบเลี้ยงกว้าง ๔-๕ มม. ผนังผลหนา สีเขียวอมชมพู สุกสีแดงเข้มเมล็ดเล็ก รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ มม. สีน้ำตาล มีจำนวนมาก
เคลงใบเวียนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๔๕๐ ม. ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมลายูและอินโดนีเซีย.