จิงจ้อนวลเป็นไม้เลื้อยล้มลุก ลำต้นรูปทรงกระบอก ทอดนอนไปตามพื้นดินหรือพันเลื้อย มีขนหยาบแข็งสั้นประปรายกางตั้งฉากกับลำต้น
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ รูปขอบขนานแกมรูปวงกลม รูปขอบขนาน หรือรูปแถบ กว้าง ๐.๓-๒.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๗ ซม. ปลายมนหรือแหลมและมีติ่งหนามสั้นโคนเว้ารูปหัวใจ โค้งมน แหลมหรือรูปติ่งหู ขอบเรียบแผ่นใบมีขนแข็งสั้นประปรายทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น ก้านใบรูปทรงกระบอก ยาว ๐.๕-๒ ซม. มีขนยาวสีขาวและกางตั้งฉากกับก้านใบ
ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อกระจะ ออกตามซอกใบ มี ๑-๔ ดอก ออกทางด้านข้างด้านเดียวก้านช่อดอกยาว ๑-๒.๕ ซม. มีขนแข็งสั้นประปรายกางตั้งฉากที่โคน ก้านดอกยาว ๕-๘ มม. เกลี้ยงใบประดับขนาดเล็ก รูปไข่ ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลมสั้น เกลี้ยง ดอกสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน หนานุ่ม รูปขอบขนานแกมรูปรี กว้างประมาณ ๓.๕ มม. ยาว ๔-๗ มม. ปลายมนหรือแหลม โคนตัดตรงหรือโค้งมน เมื่อสดผิวเกลี้ยงและเป็นมันเงา กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปกรวย ยาว ๑.๕-๒ ซม. ปลายผายกว้างออก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๓ ซม. ปลายสุดหยักเว้าเป็นแฉกตื้น ๕ แฉก มีแถบกลางกลีบชัดเจน มีเส้น ๓ เส้น เกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ยาวไม่เท่ากัน โผล่ไม่พ้นปากหลอดกลีบดอก เชื่อมติดกับโคนหลอด โคนกว้างกว่าปลาย และมี
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลมหรือค่อนข้างกลม กว้างและยาวประมาณ ๕ มม. เกลี้ยง เรียบ เมล็ดสีดำ มี ๔ เมล็ด ยาว ๒-๓ มม. เกลี้ยงหรือมีขนสั้นประปราย
จิงจ้อนวลมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าผลัดใบ ทุ่งหญ้าริมทาง และริมคันนา ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีนตอนใต้ มาเลเซีย และเขตร้อนของออสเตรเลีย.