ขี้กาลาย

Diplocyclos palmatus (L.) C. Jeffrey

ไม้เถา มีหัวใต้ดิน มือพันมี ๒ แฉก ใบเรียงเวียน รูปฝ่ามือ ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ ดอกสีเหลืองอมเขียว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่หรือกลม สุกสีแดง มีจุดขาวเป็นแนวตามยาวของผล

ขี้กาลายเป็นไม้เถาอายุหลายปี แตกแขนงมาก มีหัวใต้ดิน และมีมือพันแยก ๒ แฉก

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ กว้าง ๗-๒๒ ซม. ยาว ๖-๒๐ ซม. เว้าเป็นแฉกลึกแบบนิ้วมือ ๓-๙ แฉก ปลายแฉกแหลม โคนเว้ารูปหัวใจ ใบอ่อนมีขน เมื่อแก่เกลี้ยง มีจุดสีขาว ก้านใบยาว ๒-๑๐ ซม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้น สีเหลืองอมเขียว ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามง่ามใบ มีดอกช่อละ ๒-๘ ดอก ดอกเพศเมีย ๑-๔ ดอก ที่เหลือเป็นดอกเพศผู้ ดอกเพศผู้ ก้านดอกยาว ๐.๘-๒ ซม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูประฆัง กว้างและยาว ๕-๖ มม. ปลายมี ๕ แฉก กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๕ แฉก ยาว ๗-๘ มม. กางออกหรือม้วนลง มีขนสั้นและนุ่มทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๓ อัน มีขนเป็นกระจุกติดที่โคนก้านชูอับเรณู ดอกเพศเมียก้านดอกยาว ๒-๔ มม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายดอกเพศผู้แต่ขนาดเล็กกว่า รอยต่อระหว่างหลอดกลีบเลี้ยงและรังไข่มีรอยคอด แฉกกลีบดอกยาว ๔-๖ มม. มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน ๓ อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปไข่ ค่อนข้างกลม มี ๑ ช่อง ออวุล ๒-๓ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียปลายใหญ่กว่าโคน ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นพูขนาดใหญ่ ๓ พู

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลมหรือรูปไข่ มีกระจุกละ ๑-๔ ผล กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. เมื่อสุกสีแดงสด มีจุดขาวเป็นแนวตามยาว ๗-๘ แนว ก้านผลยาว ๑-๕ มม. มี ๒-๓ เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาล รูปไข่ปลายมน ยาว ๖-๗ มม. ขอบหนา ๒ ด้าน มีส่วนหนาลักษณะคล้ายคอร์ก ฝังอยู่ในเมือก

 ขี้กาลายมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคกลาง ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณและป่าละเมาะ ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๑,๘๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่แอฟริกากลาง แอฟริกาตะวันออก และเอเชียเขตร้อน แถบภูมิภาคมาเลเซีย และออสเตรเลียเขตร้อน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้กาลาย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Diplocyclos palmatus (L.) C. Jeffrey
ชื่อสกุล
Diplocyclos
คำระบุชนิด
palmatus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์