เคลงน้องเป็นไม้พุ่มอิงอาศัย กิ่งอ่อนรูปทรงกระบอก ไม่มีขน แต่เป็นตุ่มเล็ก ๆ ผิวหยาบและย่นเมื่อแห้ง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๔-๗.๕ ซม. ยาว ๗-๑๘ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือเป็นครีบที่ก้านใบ ขอบเรียบ ม้วนขึ้นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ ๑ เส้น ออกใกล้โคนเส้นกลางใบ เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๘-๑.๘ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ยาวประมาณ ๔.๕ ซม. มี ๕-๑๐ ดอก ก้านช่อเรียว ยาว ๑-๒.๕ ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม. ก้านดอกยาว ๐.๘-๑ ซม. ฐานดอกรูปถ้วย ยาว ๕-๖ มม. เกลี้ยง ส่วนล่างเชื่อมติดกับรังไข่ส่วนล่าง เหนือขึ้นไปแยกอิสระจากรังไข่เป็นแอ่งเกสรเพศผู้ซึ่งอยู่ตํ่ากว่าช่วงกลางของรังไข่กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกับขอบฐานดอก ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายหลอดตัดตรงและเรียบหรืออาจเป็นหยักซี่ฟันตื้น ๕-๖ หยัก กลีบดอกสีขาว มี ๕-๖ กลีบ รูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับแกมรูปลิ่ม กว้าง ๐.๙-๑.๑ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. เกสรเพศผู้ ๑๐ หรือ ๑๒ เกสร ขนาดเท่ากัน ก้านชูอับเรณูยาว ๗-๘ มม. อับเรณูสีม่วงหรือสีเหลือง รูปคล้ายตะขอ ยาว ๖-๘ มม. ปลายแตกเป็นช่อง โคนแกนอับเรณูด้านนอกมีเดือย ด้านในเป็นพูสีเหลือง ๒ พู รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๓ ใน ๔ ของฐานดอกรูปถ้วย มี ๕-๖ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๑.๙ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแหลม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปคล้ายระฆัง กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. ปลายตัดเมล็ดเล็ก ทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๑ มม. สีน้ำตาล เป็นมันจำนวนมาก
เดลงน้องมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๗๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมในต่างประเทศพบที่อินโดนีเซีย.