ตีเมียเมื่อย่างชนิดนี้เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยอิงอาศัยกิ่งยาวได้ถึง ๗ ม. กิ่งอ่อนสีน้ำตาลอ่อน มีสันคล้ายปีก ๔ ปีก กิ่งแก่กลมคล้ายรูปทรงกระบอก เรียบ
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กลับถึงรูปช้อน กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๒.๕-๘ ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบแผ่นใบบางและเหนียวคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเป็นมันเส้นโคนใบหลักมี ๓-๕ เส้น เห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๔-๖ มม. มีครีบ
ดอกแยกเพศต่างต้น แต่ละดอกมีลักษณะคล้ายดอกสมบูรณ์เพศแต่ทำหน้าที่เพียงเพศเดียว ออกเหนือรอยแผลใบของกิ่งเก่าหรือตามซอกใบของกิ่งใหม่ ช่อดอกเพศผู้คล้ายแบบช่อซี่ร่ม ก้านช่อยาว ๕-๗ มม. ผิวมีเกล็ดดอกเพศผู้ขนาดเล็ก สีออกเขียว มี ๓-๕ ดอก ก้านดอกยาว ๒.๕-๓ มม. มีใบประดับย่อยเชื่อมกันเป็นวงใบประดับ เส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๑ มม. กลีบรวมโคนเชื่อมกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอก ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๐.๓ มม. ด้านในของแต่ละแฉกมีรยางค์คล้ายลิ้น ๑ อัน เชื่อมติดด้านหลังเกสรเพศผู้แต่ละเกสร เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้นติดที่โคนกลีบรวม อับเรณูเล็ก เกสรเพศเมียลดรูป ช่อดอกเพศเมียเป็นกระจุกหรือคล้ายช่อซี่ร่ม มี ๑-๓ ดอก ก้านดอกยาว ๑.๕-๒ มม. ดอกเพศเมียขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้เล็กน้อย กลีบรวมโคนเชื่อมกันเป็นหลอดรูปไข่ ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยม จานฐานดอกมีเนื้อฉ่ำน้ำเกสรเพศผู้มักไม่เจริญ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๓ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๐.๘ มม. ยอดเกสรเพศเมียค่อนข้างกลม มี ๕ พู เห็นไม่ชัด
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีถึงทรงรูปไข่ยาว ๐.๔-๑ ซม. มีก้าน เมื่อแก่สีแดงเข้มหรือสีค่อนข้างดำเมล็ดมีเกราะแข็งหุ้ม มี ๑ เมล็ด เป็นพู ตามผิวมีปุ่มเรียงเป็นแถวตามแนวยาว
ตีเมียเมื่อย่างชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นตามป่าชายหาดใกล้ทะเลและป่าผสมตามเทือกเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางได้ถึง ๒,๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนกุมภาพันธุ์ถึงเมษายนเป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ในต่างประเทศพบที่จีน ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมาเลเซีย และอินโดนีเซีย.