ชาฤๅษีวังกะเป็นไม้ล้มลุกหลายปีถึงไม้กึ่งพุ่ม สูง ๒๐-๕๐ ซม. ลำต้นตั้งตรง ส่วนโคนค่อนข้างแข็งคล้ายมีเนื้อไม้ เปลือกขรุขระ รากเป็นกระจุกฝอย
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบใกล้ยอดมี ๓-๖ คู่ บิดและเรียงถี่คล้ายเป็นกระจุก ใบล่าง ๆ หลุดร่วงเหลือเฉพาะรอยแผลใบและมีขนสีขาวคล้ายใยแมงมุมหนาแน่น ใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๓ ซม. ยาว ๗.๕-๑๐ ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียวเล็กน้อย ขอบหยักมน แผ่นใบกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง เหี่ยวและยับย่นได้ง่าย ด้านบนสีเขียวอ่อน มีขนต่อมหลายเซลล์สั้น ๆ กระจายทั่วไปทั้ง ๒ ด้าน ด้านล่างมีขุยสีน้ำตาลแดงค่อนข้างหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๑ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๒-๓ ซม. ก้านใบที่อยู่เหนือขึ้นไปสั้นกว่าก้านด้านล่าง
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ มี ๒-๖ ช่อ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ยาวประมาณ ๖ ซม. ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๑๔ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ มม. มีดอกจำนวนมากก้านดอกยาว ๓-๔ มม. มีขนและขุยสีน้ำตาลแดงใบประดับรูปรีแคบหรือรูปใบหอกแคบ กว้าง ๓-๗ มม. ยาว ๑.๒-๑.๘ ซม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนและขุยสีน้ำตาลแดง กลีบเลี้ยงรูปคล้ายดาว เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔.๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอกแคบ กว้างประมาณ ๐.๘ มม. ยาวประมาณ ๓.๕ มม. ปลายแหลม กลีบดอกสีขาว รูปคล้ายถ้วย เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายมี ๕ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๒ แฉก ซีกล่าง ๓ แฉก แฉกรูปไข่กว้างหรือรูปเกือบกลม กว้างและยาวประมาณ ๒ มม. ปลายมน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอกที่สมบูรณ์ ๒ เกสร ก้านชูอับเรณูรูปแถบค่อนข้างสั้น อับเรณูสีเหลือง กว้างและยาวประมาณ ๑.๗ มม. เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสรเป็นหมัน ติดอยู่ใกล้โคนหลอดกลีบดอก จานฐานดอกรูปวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๒-๔ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๐.๖-๑ ซม. ผลแก่บิดเป็นเกลียวห่าง มีกลีบเลี้ยง ก้านยอดเกสรเพศเมีย และยอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดรูปคล้ายกระสวยขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
ชาฤๅษีวังกะเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามหน้าผาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน.