ขี้กาน้อยเป็นไม้เถาล้มลุกหลายปี เถาเรียว เป็นร่องตามยาว มีมือพัน ปลายอาจแยกเป็น ๒ เส้น
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปร่างหลายแบบ เช่น รูปไต รูปสามเหลี่ยม ห้าเหลี่ยม หรือเป็นแฉก กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๔-๖ ซม. ปลายแหลม โคนเว้าลึกเป็นรูปหัวใจ ขอบจักไม่สม่ำเสมอ ผิวสากคายทั้งด้านบนและด้านล่าง มีเส้นโคนใบประมาณ ๕ เส้น ก้านใบยาว ๒.๕-๕ ซม. มีขน
ดอกแยกเพศร่วมต้น ใบประดับรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. ขอบจักเป็นแฉกไม่สม่ำเสมอ ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อกระจะ ยาวได้ถึง ๑๕ ซม. มี ๓-๘ ดอก และมีดอกเดี่ยวออกที่โคนช่อ ก้านดอกยาวได้ถึง ๗ ซม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอด มีขนหนาแน่น ปลายกลีบเลี้ยงแยกเป็น ๕ แฉก รูปแถบแกมรูปลิ่ม ยาว ๕-๖ มม. กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเล็กน้อย ปลายแยก ๕ แฉกรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายแหลม กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๕-๓ ซม. มีขนประปราย โคนกลีบติดกันเล็กน้อย ด้านในสีเหลือง เกสรเพศผู้ ๓ อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๐.๕ มม. อับเรณูติดกันเป็นทรงกระบอก ขดไปมาตามยาว ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ก้านดอกยาว ๑-๔ ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายดอกเพศผู้ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปรี ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนสั้น มี ๑ ช่อง และมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก ยาว ๔-๖ มม.
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๕ ซม. สุกสีแดง โคนสอบ ปลายแหลม มีเส้นนูนตามยาว ๑๐ เส้น เมล็ดรูปรีจำนวนมาก กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๗-๘ มม. หนาประมาณ ๒ มม. มีสันรอบเมล็ด
ขี้กาน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นได้ทั่วไปตามที่รกร้าง ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและภูมิภาคมาเลเซีย
รากบดละเอียดผสมกับน้ำร้อนใช้ทาแก้ปวดตามร่างกาย.