กล้วยปิ้ง

Hoya diversifolia Blume

ชื่ออื่น ๆ
ลิ้นควาย (สงขลา)
ไม้เถาอิงอาศัย ทุกส่วนมียางขาว ใบค่อนข้างหนา เรียงตรงข้าม รูปรี ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ห้อยลง ดอกเล็ก รูปกงล้ สีชมพูหม่น ฝักรูปทรงกระบอก ฝักแก่แตกแนวเดียว

กล้วยปิ้งเป็นไม้เถาอิงอาศัย ลำต้นยาวได้ถึง ๒๐ ม. มียางขาว

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามระยะระหว่างคู่ของใบค่อนข้างห่างตั้งแต่ ๘-๒๐ ซม. ใบหนา รูปรี กว้าง ๓-๔ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. ปลายและโคนโค้งมนหรือเป็นมุมแหลมกว้าง ในสภาวะแห้งแล้งขอบใบเป็นสันม้วนลง เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๗-๑.๕ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ห้อยลง ออกตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาว ๔-๘ ซม. แต่ละช่อมี ๑๒-๒๐ ดอก บานจากรอบนอกเข้าไปหากลางช่อ ดอกออกที่ปลายแกนช่อดอกเดิมได้ หลายครั้ง ทำให้แกนช่อดอกยืดออกไปได้ถึง ๒ ซม. ดอกรูปกงล้อสีชมพูหม่น ก้านดอกยาว ๒-๒.๕ ซม. เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๐.๘-๑.๒ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ขนาดเล็ก กลีบดอกโคนติดกันประมาณครึ่งหนึ่งของกลีบปลายแยกเป็น ๕ แฉก ปลายแฉกแหลมม้วนลง บริเวณที่


ม้วนเกลี้ยง นอกนั้นมีขนสีขาวใสค่อนข้างสั้นและนุ่ม กลางดอกมีกะบังรอบสีชมพูแกมน้ำตาลอ่อน รูปแท่น ประกอบด้วยรยางค์รูปไข่ ๕ แฉก เกสรเพศผู้อยู่ใต้แฉก รังไข่มี ๒ อัน แยกจากกัน เมื่อออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียติดกัน มีแผ่นบางใสคลุม

 ฝักรูปทรงกระบอก ยาว ๑๐-๑๓ ซม. ฝักแก่แตกแนวเดียว มีเมล็ดจำนวนมาก มีขนเป็นพู่สีขาวที่ปลายด้านหนึ่ง

 กล้วยปิ้งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามสวนผลไม้ ป่าโปร่ง ตลอดจนป่าชายเลน ในต่างประเทศ พบที่พม่า กัมพูชา และภูมิภาคมาเลเซีย

 นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กล้วยปิ้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Hoya diversifolia Blume
ชื่อสกุล
Hoya
คำระบุชนิด
diversifolia
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
ลิ้นควาย (สงขลา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง