เคลงเคอเป็นไม้พุ่มอิงอาศัย สูงประมาณ ๑ ม. กิ่งอ่อนค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม กิ่งแก่รูปทรงกระบอก
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๓-๕ ซม. ยาว ๕-๑๑.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนกึ่งหุ้มข้อ ขอบเรียบแผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบข้างละ ๑ เส้น ออกจากโคนหรือใกล้โคน เส้นกลางใบขนานกับขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ไร้ก้าน
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ยอด ยาว ๔-๘ ซม. ก้านช่อยาว ๒-๓ ซม. เป็นสี่เหลี่ยม สันของเหลี่ยมแผ่เป็นครีบบาง ทั้งช่อมีดอกจำนวนมาก ใบประดับและใบประดับย่อยรูปใบหอก ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ร่วงง่าย ก้านดอกยาว ๐.๘-๑ ซม. ฐานดอกรูปถ้วย ยาว ๕-๖ มม. เกลี้ยง มีร่องตื้น ส่วนล่างของฐานดอกรูปถ้วยเชื่อมติดกับส่วนล่างของรังไข่ เหนือขึ้นไปแยกอิสระจากรังไข่เป็นแอ่งเกสรเพศผู้ซึ่งอยู่ตํ่ากว่าช่วงกลางของ รังไข่ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกับขอบฐานดอก ขอบปากหลอดกลีบเลี้ยงเรียบหรือมีติ่งจักซี่ฟันเล็ก ๆ กลีบดอกสีชมพูอมม่วง มี ๔-(๕) กลีบ รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๕ มม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. ปลายมนกว้าง ปลายสุดเป็นติ่งแหลม โคนสอบแคบเล็กน้อย เกสรเพศผู้ ๘ หรือ ๑๐ เกสร ขนาดเท่ากัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑ ซม. อับเรณูสีม่วง รูปแถบ โค้งเล็กน้อย ยาว ๖-๗ มม. ปลายแตกเป็นช่อง โคนแกนอับเรณูด้านนอกมีเดือยด้านในป่องเป็นพูสีเหลือง ๒ พู ยาวประมาณ ๐.๕ มม. รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ ยาวประมาณ ๓ ใน ๔ ของฐานดอก รูปถ้วย มี ๔-(๕) ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ยอดเกสรเพศเมียแหลม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปคล้ายโถกว้าง ๕-๖ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. เกลี้ยง เป็นมัน สุกสีส้มแกมน้ำตาล เมล็ดเล็ก จำนวนมาก รูปค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ มม. สีน้ำตาล
เคลงเคอมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคม ในต่างประเทศพบที่อินโดนีเซีย.