ตีเมียเมื่อย่างชนิดนี้เป็นพืชกึ่งเบียน เป็นพุ่มตั้งตรงหรือเป็นไม้เถามีเนื้อไม้ กิ่งอ่อนสีเขียวอมเหลือง แบนและบิด มีผงตามผิว กิ่งแก่สีน้ำตาล รูปคล้ายทรงกระบอกพบบ้างที่ยังคงมีลักษณะแบนแบบกิ่งอ่อน เปลือกเรียบมีตุ่มประปราย
ใบเดี่ยว เรียงเวียนห่าง บางครั้งร่วงง่าย รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปช้อน กว้าง ๐.๓-๒.๕ ซม. ยาว ๑.๓-๔.๕ ซม. ปลายมนหรือเกือบแหลม โคนรูปลิ่มแคบ ขอบเรียบสีเขียวอมเหลือง แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนังและเปราะเส้นโคนใบ ๒-๓ เส้น เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๓-๗ มม. เป็นเหลี่ยม มีครีบ
ช่อดอกคล้ายช่อกระจุก ออกตามซอกใบ ช่อดอกดกออกตลอดกิ่งทั้งที่กิ่งอ่อนและกิ่งแก่ กิ่งละมากกว่า ๑๐ ช่อ หรือออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงตามรอยแผลนูนตามกิ่ง ช่อละประมาณ ๑๐ ดอก ช่อแยกแขนงมีก้านช่อดอกสั้นมาก แกนกลางช่อกว้าง ๐.๕-๐.๘ มม. ยาว ๔-๘ มม. ที่โคนก้านมีวงใบประดับ ๕ ใบ เรียงซ้อนเหลื่อมกันและพบใบประดับเดี่ยว ๆ ตลอดความยาวของแกน ใบประดับรูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้าง ๐.๔-๐.๖ มม. ยาว ๐.๕-๐.๖ มม. ขอบมีขนอุย ช่อดอกย่อยที่อยู่ตามแนวแกนกลางมีก้านช่อสั้นมาก มีใบประดับตลอดความยาว
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมกว้าง ๒.๕-๓.๕ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม. สุกสีดำ ผนังผลชั้นนอกเรียบ ผนังผลชั้นกลางบางและฉ่ำน้ำ ผนังผลชั้นในแข็งรูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๒.๕ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. มีปุ่มมีแฉก ๕ แฉก ตรงปลายพบรอยแผลรูปดาวที่อาจต่อเนื่องไปถึงส่วนโคน ปลายผลมักมีติ่งแหลมอ่อนสั้น ๆ รูปคล้ายกรวย ก้านผลกว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๐.๓-๐.๕ มม. เมล็ดขนาดเล็ก เป็นพู เนื้อเมล็ดย่น
ตีเมียเมื่อย่างชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าเสม็ด ชายป่าพรุ และป่าที่ถูกแผ้วถาง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กัมพูชา เวียดนาม คาบสมุทรมลายู และภูมิภาคมาเลเซีย.