ตีนตุ๊กแก ๒

Tridax procumbens L.

ชื่ออื่น ๆ
Coat buttons, Tridax daisy
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตั้งตรงหรือทอดนอนตามพื้นราบแล้วชูยอดตั้งขึ้น แตกกิ่งก้าน มีขนแข็งสาก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปใบหอก หรือรูปรี มีขนแข็งสาก ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกที่ยอดหรือที่ปลายกิ่งข้างยอด ก้านช่อยาวมาก ดอกย่อยในช่อมี ๒ แบบ แบบดอกย่อยวงนอกเป็นดอกเพศเมีย รูปลิ้น สีขาวอมเหลืองอ่อน แบบดอกย่อยวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ รูปหลอด สีเหลือง ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน สีค่อนข้างดำ รูปกรวยหรือรูปทรงกระบอก ปลายตัด อาจมีสันตามยาว มีกลีบเลี้ยงติดทนแบบแพปพัสที่ปลายผล มีขนแข็ง มีเมล็ด ๑ เมล็ด

ตีนตุ๊กแกชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูง ๑๕-๘๐ ซม. ลำต้นตั้งตรงหรือทอดนอนตามพื้นราบแล้วชูยอดตั้งขึ้น แตกกิ่งก้าน มีขนแข็งสาก

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปใบหอก หรือรูปรี กว้าง ๐.๗-๔ ซม. ยาว ๑-๗ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อยห่าง หยักตื้น หรือหยักเว้าลึกบริเวณใกล้โคนใบ ๑-๒ หยัก เส้นกลางใบนูนเด่นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ค่อยชัด ผิวใบทั้ง ๒ ด้านมีขนแข็งสาก ก้านใบยาว ๐.๕-๓ ซม. มีขนแข็งสาก

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ส่วนมากเป็นช่อเดี่ยว ออกที่ยอดหรือที่ปลายกิ่งข้างยอด ก้านช่อดอกยาว ๑๐-๒๐ ซม. มีขนแข็งสากและมีต่อม ช่อดอกเมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. ฐานดอกร่วมคล้ายกรวยคว่ำหรือนูนต่ำ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. สูงประมาณ ๑.๕ มม. มีเกล็ดรูป


ใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๘-๙ มม. ติดทนเมื่อเป็นผล วงใบประดับรูประฆัง กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๕-๗ มม. ใบประดับเรียงซ้อนเหลื่อม ๒-๓ ชั้น ใบประดับชั้นนอกรูปไข่ กว้าง ๒-๓.๕ มม. ยาว ๓.๕-๖ มม. ปลายแหลม ค่อนข้างหนา มีขนแข็งสากหนาแน่น ใบประดับชั้นในรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๒ มม. ยาว ๕-๘ มม. ค่อนข้างบาง ดอกย่อยในช่อมี ๒ แบบ แบบดอกย่อยวงนอกเป็นดอกเพศเมีย รูปลิ้น มี ๕-๖ ดอก พบบ้างที่มี ๓ หรือ ๔ ดอก แต่ละดอกไร้ก้าน กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นรยางค์ เรียวคล้ายเส้นด้าย มีประมาณ ๒๐ เส้น ตามขอบมีขนแข็ง ยาว ๒-๓ มม. กลีบดอกสีขาวอมเหลืองอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม.

มีขนนุ่ม ปลายเชื่อมติดกันแผ่เป็นแผ่น รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๔-๕ มม. ปลายหยักแหลม ๓ หยัก พบบ้างที่มี ๒ หรือ ๔ หยัก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก แบบดอกย่อยวงในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ สีเหลือง มีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงลดรูปเป็นรยางค์ เรียวคล้ายเส้นด้าย มีประมาณ ๒๐ เส้น ตามขอบมีขนแข็ง กลีบดอกยาว ๕.๕-๖.๕ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กว้างประมาณ ๑ มม. ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปใบหอก ด้านนอกกลีบดอกมีขน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูแยกเป็นอิสระ อับเรณูรูปแถบเรียว ยาว ๒-๓.๕ มม. ปลายมีรยางค์รูปไข่ โคนเป็นเงี่ยงลูกศร แต่ละอับเรณูติดกันทางด้านข้างและโอบหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน สีค่อนข้างดำ รูปกรวยหรือรูปทรงกระบอกเรียว กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. ปลายตัด อาจมีสันตามยาว ๓-๔ สัน มีกลีบเลี้ยงติดทนแบบแพปพัสที่ปลายผล ประมาณ ๒๐ เส้น ยาว ๔.๕-๖.๕ มม. มีเมล็ด ๑ เมล็ด

 ตีนตุ๊กแกชนิดนี้เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามที่โล่งแจ้ง ที่รกร้าง ริมถนน หรือตามริมทาง เป็นวัชพืชในพื้นที่เกษตรกรรม ตามป่าไผ่ ป่ายาง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปีในต่างประเทศพบตามเขตร้อนและกึ่งร้อนทั่วโลก

 ประโยชน์ ทั้งต้นใช้เป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตีนตุ๊กแก ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tridax procumbens L.
ชื่อสกุล
Tridax
คำระบุชนิด
procumbens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
Coat buttons, Tridax daisy
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์