ขี้กาขาว ๒

Trichosanthes cordata Roxb.

ไม้เถา ใบเป็นเหลี่ยม ๓-๕ เหลี่ยม หรือเป็นแฉก ๓-๕ แฉก ดอกสีขาว แยกเพศอยู่ต่างต้น ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเม็ด รูปกลม สุกสีแดง มีลายสีส้ม เมล็ดมาก

ขี้ขาวชนิดนี้เป็นไม้เลื้อย มีมือเกาะ ปลายมือเกาะแยกเป็น ๓ แขนง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปหัวใจแกมรูปไข่ กว้างและยาว ๑๕-๒๐ ซม. ปลายแหลม โคนเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบหยักซี่ฟันเป็นเหลี่ยม หรือเป็นแฉก ๓-๕ แฉก แผ่นใบหนาปานกลาง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขน เส้นโคนใบ ๓-๗ เส้น ใบประดับรูปไข่กลับ ค่อนข้างยาว ขอบเรียบ หรือหยักฟันเลื่อยถี่ มีขน ดอกแยกเพศต่างต้น ดอกเพศผู้ออกตามง่ามใบเป็นคู่ เป็นดอกเดี่ยว ร่วงง่าย และช่อกระจะ ๑ ช่อ ยาวประมาณ ๒๐ ซม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดเป็นหลอด ยาวประมาณ ๓.๕ ซม. ปลายหลอดแยกเป็นแฉกแหลม ๕ แฉก ด้านนอกมีขนหนาแน่น กลีบดอกสีขาว มี ๕ กลีบ โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ขอบกลีบเป็นชายครุยยาว เกสรเพศผู้ ๓ อัน อับเรณูรูปแถบ ขดไปมาคล้ายตัวหนอน ดอกเพศเมียออกเดี่ยว ๆ ตามง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกคล้ายดอกเพศผู้ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเล็กและยาวคล้ายเส้นด้าย

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเม็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๔ ซม. สุกสีแดง มีลายสีส้ม เมล็ดมีจำนวนมาก รูปรี แบน กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๑.๓ ซม. ฝังตัวอยู่ในเนื้อฟุ ๆ ตามแนวนอน

 ขี้กาขาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคกลาง ในต่างประเทศพบที่อินเดีย

 รากและดอกใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย ผลเป็นยาระบายและขับพยาธิในท้อง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้กาขาว ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Trichosanthes cordata Roxb.
ชื่อสกุล
Trichosanthes
คำระบุชนิด
cordata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์