กล้วยใบประดับ

Heliconia indica Lam.

ไม้ล้มลุก มีเหง้า ขึ้นเป็นกอ ลำต้นเป็นลำต้นเทียม ใบเรียงเวียน รูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอดมีใบประดับรูปเรือ สีเขียวอ่อน ขอบสีแดงหนึ่งถึงหลายเมล็ดผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ผลสุกสีแดง

กล้วยใบประดับเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้า ส่วนที่อยู่เหนือดินคล้ายต้นกล้วย ขึ้นเป็นกอ มีหน่อทางด้านข้างของต้น ลำต้นเป็นลำต้นเทียม เกิดจากการห่อหุ้มของกาบใบ สูง ๓-๖ ม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๓ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน แผ่นใบใหญ่ คล้ายใบกล้วย รูปขอบขนาน กว้าง ๒๐-๔๐ ซม. ยาว ๖๐-๙๐ ซม. ปลายแหลมโคนสอบ ขอบเรียบ เส้นกลางใบหนา มีเส้นแขนงใบจำนวนมาก ขณะที่ยังอ่อนอยู่ใบม้วนซ้อนกันเป็นแท่ง ก้านใบยาว ๑๕-๒๐ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ขนาดใหญ่ โคนช่อมีใบที่ลดรูปติดอยู่ ช่อดอกย่อยเรียงสลับระนาบเดียว ใบประดับแข็งและแผ่ออก มี ๔-๘ อัน สีเขียวอ่อน รูปเรือ แบนข้าง ขอบกาบ ขลิบสีแดง ประแดงหรือประเขียว วงกลีบดอกติดกันเป็นหลอดยาวสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดง เกสรเพศผู้ ๖ อัน สมบูรณ์ ๕ อัน เป็นหมัน ๑ อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีส้ม ผลสุกสีแดง มี ๑-๓ เมล็ด

 กล้วยใบประดับมีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคมาเลเซีย (ปาปัวนิวกินี) นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นไม้ประดับ ไม่ค่อยออกดอก มีหลายพันธุ์ พันธุ์ที่นำมาปลูกมีดังนี้

 กล้วยด่าง (H. indica Lam. cv. Striata ชื่อพ้อง H. indica Lam. cv. Aureo-striata ชื่อสามัญ Yellow striped heliconia) ใบสีเขียว และมีแถบสีเหลืองอมเขียวหรือขาวเป็นทางบนแผ่นใบ

 กล้วยแดง (H. indica Lam. cv. Spectabilis ชื่อพ้อง H. indica Lam. cv. Edwardus Rex, Rubra, Rubricarpa และ Rubricaulis ชื่ออื่น ๆ กล้วยชมพู) ใบด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีบรอนซ์ทองอมม่วง เขียวอมม่วง หรือแดงเส้นกลางใบสีแดงหรือชมพู ก้านใบสีแดงเข้ม มีจุดประสีดำ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กล้วยใบประดับ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Heliconia indica Lam.
ชื่อสกุล
Heliconia
คำระบุชนิด
indica
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Lamarck, Jean Baptiste Antoine Pierre de Monnet de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1744-1829)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ.จิรายุพิน จันทรประสงค์