ตีนมือนกเขาเป็นเฟิร์นอิงอาศัย ลำต้นอวบสั้นเกาะเลื้อย สีเหลืองซีด ยาวประมาณ ๓ ซม. เจริญอยู่ในซากอินทรีย์หรือในเฟิร์นชนิดอื่น เช่น ในใบประกบต้นของชายผ้าสีดา
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปแถบคล้ายริบบิ้น กว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๕๐-๑๒๐ ซม. ห้อยลง แยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งไม่สร้างอับสปอร์ อีกส่วนหนึ่งสร้างอับสปอร์โคนใบส่วนที่ฝังอยู่กับต้นจะมีสีเขียวอ่อน รูปทรงกระบอกแผ่นใบส่วนที่ไม่สร้างอับสปอร์รูปแถบ สีเขียวสด อวบหนา มักบิด บางครั้งแตกแขนงเป็นคู่ได้มากกว่า ๑ ครั้ง ปลายแหลมหรือมน ขอบเรียบ เส้นกลางใบเห็นชัดจากโคนถึงตำแหน่งที่เกิดกลุ่มอับสปอร์ ถัดจากนั้นเห็นไม่ชัดเมื่อใบแห้งจะบางและเห็นเส้นใบแบบร่างแหชัดเจน ไม่พบเส้นใบย่อยอิสระในช่องร่างแห แผ่นใบส่วนที่สร้างกลุ่มอับสปอร์คล้ายช่อเชิงลด
กลุ่มอับสปอร์คล้ายช่อเชิงลด รูปแถบหนา กว้างได้ถึง ๑.๒ ซม. ยาว ๑๕-๔๕ ซม. แยกจากแผ่นใบค่อนไปทางด้านโคนใบ มักจะไม่แตกแขนง มีก้านรูปทรงกระบอกยาว ๕-๘ ซม. อับสปอร์เรียงเป็นแถวทั้ง ๒ ข้าง เชื่อมต่อกันที่ผนังด้านข้างเป็นเนื้อเดียวกัน รูปแถบหนา เมื่ออับสปอร์แก่กลุ่มอับสปอร์จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองแต่ละอับสปอร์แตกตามขวาง
ตีนมือนกเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยแทบทุกภาคโดยเฉพาะภาคใต้ มักเกิดที่ใบประกบต้นของเฟิร์นชายผ้าสีดาหรือกลุ่มรากขนาดใหญ่ที่อัดกันแน่นของข้าหลวงหลังลายบนคาคบไม้ในป่าดิบชื้นที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๐๐-๑,๑๐๐ ม. ตีนมือนกเขาไม่ใช่พืชเบียน แต่ได้น้ำและสารอาหารจากต้น
ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป.