ชาฤๅษีใยแมงมุมเป็นไม้ล้มลุกหลายปีถึงไม้กึ่งพุ่ม สูง ๑๕-๔๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ประมาณ ๑.๓ ซม. ส่วนโคนค่อนข้างแข็งคล้ายมีเนื้อไม้ มีรอยแผลใบและมีขนสีขาวคล้ายใยแมงมุมหนาแน่นปลายกิ่งเปราะ หักง่าย เปลือกขรุขระ มีร่องละเอียด
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบใกล้ยอดมี ๕-๑๒ คู่ บิดและเรียงถี่เป็นกระจุก ใบล่าง ๆ หลุดร่วงเหลือเฉพาะรอยแผลใบและมีขนสีขาวคล้ายใยแมงมุมหนาแน่น ใบรูปรี กว้าง ๓-๕.๕ ซม. ยาว ๘.๕-๒๐ ซม. ปลายมน โคนรูปลิ่มหรือสอบเรียวเล็กน้อย ขอบหยักมน แผ่นใบกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวอ่อนมีขนต่อมหลายเซลล์สั้น ๆ กระจายทั่วไปทั้ง ๒ ด้าน แต่เห็นไม่ชัดเจนเนื่องจากมีขนสีขาวคล้ายใยแมงมุมปกคลุม เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๑ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๒-๖ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๗ มม. มีขนสีขาวคล้ายใยแมงมุมหนาแน่นก้านใบที่อยู่เหนือขึ้นไปสั้นกว่าด้านล่าง
ช่อดอกแบบช่อกระจุกเชิงประกอบ มี ๖-๑๐ ช่อ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ยาวได้ถึง ๔๕ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๑๘-๒๖ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม. มีขนสีขาวคล้ายใยแมงมุมหนาแน่นมีดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว ๓-๔ มม. มีขนสีขาวคล้ายใยแมงมุมบาง ๆ ใบประดับรูปรีหรือรูปใบหอกกว้าง ๓-๗ มม. ยาว ๑.๒-๑.๘ ซม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขนสีขาวคล้ายใยแมงมุมหนาแน่น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก กว้างประมาณ ๐.๖ มม. ยาวประมาณ ๑.๒ มม. ปลายแหลม สีเขียว ด้านนอกมีขนสีขาวประปราย กลีบดอกสีม่วงอ่อนหรือสีม่วง รูปปากเปิดโคนเชื่อมติดกัน ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. ปลายมี ๕ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก เรียวยาวกว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ผลแก่บิดเป็นเกลียว เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทนขยายใหญ่หุ้มที่โคน เมล็ดรูปคล้ายกระสวย ขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
ชาฤๅษีใยแมงมุมเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามหน้าผาหินปูนที่สูงชัน ตามเกาะในฝั่งทะเลอันดามัน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เป็นผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม มักพบในแหล่งที่อยู่เดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับดาวประดับผา (Paraboea rosea Triboun).