ตีนเป็ดพรุ

Alstonia angustiloba Miq.

ชื่ออื่น ๆ
ตีนเป็ดขาว, ยวน (นราธิวาส); ตีนเป็ดเล็ก (สงขลา)
ไม้ต้นขนาดใหญ่ มีพูพอน กิ่งอาจมีช่องอากาศประปรายหรือไม่มี ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม เปลือกสีน้ำตาล สีเทาไปจนถึงสีขาว กระพี้สีเหลืองอ่อนอมขาว ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบ วงละ ๔-๗ ใบ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามยอด ดอกสีเขียวอ่อนหรือสีขาว ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่ รูปทรงกระบอกแคบ เมล็ดค่อนข้างแบน รูปขอบขนาน มีขนเป็นกระจุกที่ปลายทั้ง ๒ ข้าง

ตีนเป็ดพรุเป็นไม้ต้น สูง ๓๕-๕๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางต้นยาวได้ถึง ๑ ม. โคนต้นมีพูพอน เรือนยอดแผ่กว้าง แตกกิ่งเป็นรัศมีโดยรอบ กิ่งอาจมีช่องอากาศประปรายหรือไม่มี ทุกส่วนมียางสีขาวคล้ายน้ำนม เปลือกสีน้ำตาล สีเทาไปจนถึงสีขาว แตกลึกเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กระพี้สีเหลืองอ่อนอมขาว

 ใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบ วงละ ๔-๗ ใบ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๔.๕-๑๗ ซม. ปลายแหลมหรือเว้าตื้น โคนมนหรือรูปลิ่ม แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบตรง ออกตั้งฉากกับเส้นกลางใบ เรียงถี่ ข้างละ ๓๐-๕๗ เส้น มีต่อมที่ซอกใบ ก้านใบยาว ๑.๓-๓.๗ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนคล้ายช่อเชิงหลั่นออกตามยอด เรียงเป็นวง มี ๔ ช่อหรือมากกว่า ทั้งช่อยาวได้ถึง ๑๕ ซม. ก้านช่อยาวได้ถึง ๖ ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นหรือเกลี้ยง ก้านดอกยาว ๑-๒.๕ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๓-๒ มม. ปลายแหลมหรือมน มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ขอบมีขนครุย กลีบดอกสีเขียวอ่อนหรือสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๕.๖-๗.๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมกว้าง ๑.๕-๒.๕ มม. ยาว ๔-๔.๖ มม. ด้านในมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ยกเว้นบริเวณใกล้โคนแฉก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ภายในหลอดดอกบริเวณช่วงบน ก้านชูอับเรณูสั้นอับเรณูรูปใบหอก กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. จานฐานดอกเป็นวงเล็กมากหรือไม่มี รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ รังไข่ แยกจากกัน ยาวประมาณ ๑ มม. แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเชื่อมติดกันเป็นเส้น ยาว ๓-๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มรูปคล้ายกระสวย

 ผลแบบผลแห้งแตกแนวเดียว ออกเป็นคู่ กางออกจากกันเล็กน้อย รูปทรงกระบอกแคบ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๒๐-๓๐ ซม. อาจมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น หรือเกลี้ยงเมล็ดค่อนข้างแบน รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. มีขนเป็นกระจุกที่ปลายทั้ง ๒ ข้าง ขนยาว ๑-๑.๓ ซม.

 ตีนเป็ดพรุมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าพรุ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๒๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตีนเป็ดพรุ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Alstonia angustiloba Miq.
ชื่อสกุล
Alstonia
คำระบุชนิด
angustiloba
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1811-1871)
ชื่ออื่น ๆ
ตีนเป็ดขาว, ยวน (นราธิวาส); ตีนเป็ดเล็ก (สงขลา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง