ตีนตั่ง ๒

Getonia floribunda Roxb.

ชื่ออื่น ๆ
กรูด (สุราษฎร์ธานี); ข้าวตอกแตก (กลาง); งวงชุม (ขอนแก่น); งวงสุ่ม, ติ่งตั่ง, ติ่งตั่งตัวผู้ (เหนือ);
ไม้เถาเนื้อแข็งกึ่งไม้พุ่มรอเลื้อย ส่วนที่ยังอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยมและแตกเป็นร่องตามยาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ด้านล่างมีต่อมโปร่งแสงประปราย ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและตามปลายกิ่ง ดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีขาว ไร้กลีบดอก ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปขอบขนาน มีพูตามยาว ๕ พู เมล็ดรูปทรงรี มี ๑ เมล็ด

ตีนตั่งชนิดนี้เป็นไม้เถาเนื้อแข็งกึ่งไม้พุ่มรอเลื้อย เส้นรอบวง ๓-๓๐ ซม. ยาว ๓-๔๐ ม. ส่วนที่ยังอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยมตามยาว เมื่อแก่สันมนหรือไม่มีสัน เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทาหรือสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องเล็ก ๆ ตามความยาวของลำต้น เปลือกในสีเหลืองอ่อนหรือสีขาว กระพี้สีขาว ค่อนข้างอ่อนแต่เหนียว

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๗.๕ ซม. ยาว ๗-๑๖ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง โคนมนหรือรูปลิ่ม และค่อนข้างเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ด้านบนมีขนประปราย ด้านล่างมีขนสั้นนุ่มและต่อมโปร่งแสงประปราย เส้นกลางใบค่อนข้างแบนหรือเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๗ เส้น ปลายเส้นโค้ง


และมักจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได สังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. มีขนสั้นค่อนข้างหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่งและตามปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๒๐ ซม. ทุกส่วนมีขนสั้นหนาแน่น ใบประดับขนาดเล็ก ยาว ๒-๓ มม. รูปใบหอก เรียวแหลม มีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น ร่วงง่าย ดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีขาว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยเป็นรูประฆังหรือรูปกรวย ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. สีขาวแกมสีเหลืองหรือสีเขียวอ่อน ด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง ไร้กลีบดอก เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง ติดบริเวณปากหลอดกลีบเลี้ยง ก้านชูอับเรณูสีม่วงอ่อนหรือสีขาว


อับเรณูสีเหลือง รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปทรงรี ยาวประมาณ ๑ มม. มีพูตามยาว ๕ พู มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๕ มม. มีขนนุ่มประปราย ยอดเกสรเพศเมียปลายตัด

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. มีพูตามยาว ๕ พู มีขนสากค่อนข้างหนาแน่น มีกลีบเลี้ยงขยายใหญ่และติดทนที่ปลายผล สีเหลืองอมเขียว รูปใบหอกกลับ ยาว ๑-๑.๕ ซม. เมล็ดรูปทรงรี มีสันมนตามแนวยาว ๕ สัน มี ๑ เมล็ด

 ตีนตั่งชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าชายหาดหรือป่าเบญจพรรณ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๙๐๐ ม. ส่วนใหญ่ออกดอกเดือนมกราคมถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย บังกลาเทศ เมียนมา จีน ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และสิงคโปร์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตีนตั่ง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Getonia floribunda Roxb.
ชื่อสกุล
Getonia
คำระบุชนิด
floribunda
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1751-1815)
ชื่ออื่น ๆ
กรูด (สุราษฎร์ธานี); ข้าวตอกแตก (กลาง); งวงชุม (ขอนแก่น); งวงสุ่ม, ติ่งตั่ง, ติ่งตั่งตัวผู้ (เหนือ);
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย