จิงจ้อเขาขาดเป็นไม้เลื้อยล้มลุก ยาวประมาณ ๘ ม. เถากลวง มีริ้วตามยาว เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กว้าง กว้าง ๗-๒๐ ซม. ยาว ๙.๕-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลมสั้น ๆ โคนเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายเยื่อ ด้านล่างสีอ่อนกว่าด้านบนและมีปุ่มเล็ก ๆ เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น เห็นเด่นชัด ก้านใบเรียว ยาว ๓.๕-๘.๕ ซม.
ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ ออกตามซอกใบ มีดอก ๒-๔ ดอก ก้านช่อดอกหนากว่าก้านใบ ยาว ๑๑-๒๔ ซม. ใบประดับที่อยู่โคนช่อรูปไข่กว้างถึงรูปกลมกว้างประมาณ ๒ ซม. ยาวประมาณ ๓.๓ ซม. ปลายเรียวแหลม ใบประดับที่อยู่ตอนบนของช่อรูปร่างคล้ายใบประดับที่โคนช่อ แต่มีขนาดเล็กกว่า ก้านดอกยาว ๑-๒ ซม. ปลายก้านหนากว่าโคนก้าน ดอกสีขาว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เกลี้ยง กลีบวงนอก ๒ กลีบ รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กลีบวงใน ๓ กลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑.๖ ซม. ยาวประมาณ ๔ ซม. ปลายแหลม กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังแกมรูปหลอด ยาว ๗.๕-๙ ซม. ด้านนอกเกลี้ยง ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมตั้งขึ้น ยาว ๑.๕-๑.๘ ซม. ปลายเรียวแหลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๘.๕ ซม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร อยู่ภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูยาว ๒-๒.๖ ซม. ติดที่โคนหลอดกลีบดอก โคนก้านกว้างกว่าปลายและมีขนหนานุ่ม เหนือรอยต่อที่โคนก้านชูอับเรณูติดกับหลอดกลีบดอกมีเกล็ดรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๓.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ขอบหยักไม่เป็นระเบียบ อับเรณูยาว ๗-๙ มม. เมื่อแตกบิดเวียน จานฐานดอกรูปวงแหวนยาวประมาณ ๑ มม. ขอบเป็นคลื่นล้อมรอบรังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาวประมาณ ๒ มม. เป็นพู ๔ พู แยกกันเป็น ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๒.๗-๓ .ซม. โคนติดที่ฐานตรงกลางระหว่างพู เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม ๒ ตุ่ม
ผลประกอบด้วยผลย่อยคล้ายผลเปลือกแข็งขนาดเล็ก ๔ ผล หรือน้อยกว่า แยกกัน ทรงรูปไข่กลับผนังผลด้านบนหนาและเหนียว ด้านล่างบางกว่าและโปร่งแสง มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่ล้อมรอบผลยาว ๗-๘ ซม. สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แต่ละผลมี ๑ เมล็ด ทรงรูปไข่กลับกว้างเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๒ ซม. สีน้ำตาลเข้ม เกลี้ยง มีตุ่มเล็ก ๆ
จิงจ้อเขาขาดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบตามป่าไผ่ บนเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนพฤศจิกายน.