ชาฤๅษีพระขยางค์

Paraboea eburnea Triboun

ไม้ล้มลุกหลายปีถึงไม้กึ่งพุ่ม เปลือกสีน้ำตาลอมเทา ส่วนโคนค่อนข้างแข็งคล้ายมีเนื้อไม้ ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปขอบขนาน รูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกกลับ มีขนต่อมหลายเซลล์กระจายทั่วไป ด้านล่างมีขนคล้ายใยแมงมุมสีน้ำตาล ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบ พบน้อยที่เป็นช่อกระจุกเชิงประกอบ มีดอกจำนวนมาก สีขาว ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบ เรียวยาวผลแก่บิดเป็นเกลียว มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน ทุกส่วนมีขนต่อมหลายเซลล์หนาแน่นเมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

ชาฤๅษีพระขยางค์เป็นไม้ล้มลุกหลายปีถึงไม้กึ่งพุ่ม สูง ๕๐-๘๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ๗-๘ มม. เปลือกสีน้ำตาลอมเทา ส่วนโคนค่อนข้างแข็งคล้ายมีเนื้อไม้ มีรอยแผลใบและขนสีน้ำตาลอ่อนหนาแน่น ปลายกิ่งเปราะ แตกหักง่าย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบใกล้ยอด ๕-๑๐ คู่ ใบล่าง ๆ หลุดร่วงเหลือเฉพาะรอยแผลใบใบรูปขอบขนาน รูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๖-๗.๘ ซม. ยาว ๑๘-๒๓ ซม. ปลายมน โคนสอบเรียว ขอบหยักมนหรือจักฟันเลื่อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียว มีขนต่อมหลายเซลล์กระจายทั่วไป ด้านล่างมีขนคล้ายใยแมงมุมสีน้ำตาล เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทางด้านบน ก้านใบสั้นมากหรือไร้ก้าน

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกด้านเดียวเชิงประกอบพบน้อยที่เป็นช่อกระจุกเชิงประกอบ มี ๓-๑๐ ช่อ ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ยาวประมาณ ๑๕ ซม. ก้านช่อดอกยาวประมาณ ๔ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๕ มม. ทุกส่วนมีขนต่อมหลายเซลล์สีขาวหนาแน่น มีดอกจำนวนมาก ก้านดอกยาว ๗-๙ มม. มีขนต่อมหลายเซลล์สีขาวหนาแน่น ใบประดับลดรูปหรือเกือบไม่มี กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแหลมหรือมน สีเขียว


มีขนต่อมหลายเซลล์สั้น ๆ หนาแน่น กลีบดอกสีขาว รูปคล้ายวงล้อ โคนเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กางออก รูปขอบขนาน รูปไข่หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. ปลายมนกลม ด้านนอกมีขนต่อมหลายเซลล์สั้น ๆ สีขาวหรือใสประปราย ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดอยู่ในหลอดกลีบดอก ที่สมบูรณ์ ๒ เกสร

ก้านชูอับเรณูรูปแถบ ยาวประมาณ ๓ มม. สีขาวตรงกลางโค้ง อับเรณูสีเหลือง ยาว ๓.๕-๔ มม. ปลายอับเรณูโค้งจดกัน เกสรเพศผู้ที่เหลืออีก ๓ เกสร เป็นหมัน อยู่ใกล้โคนหลอดกลีบดอก จานฐานดอกรูปวงแหวน สูงประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี ยาวประมาณ ๓.๕ มม. มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ผนังด้านนอกมีขนต่อมหลายเซลล์หนาแน่น ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๔.๕ มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มสีขาว

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอกแคบเรียวยาว กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒-๓ ซม. ผลแก่บิดเป็นเกลียว มีกลีบเลี้ยงติดทนและขยายใหญ่หุ้มที่โคน ทุกส่วนมีขนต่อมหลายเซลล์หนาแน่น เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก

 ชาฤๅษีพระขยางค์เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคใต้ พบตามหน้าผาหินปูนที่สูงชันใกล้ฝั่งทะเลอันดามัน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน เป็นผลเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชาฤๅษีพระขยางค์
ชื่อวิทยาศาสตร์
Paraboea eburnea Triboun
ชื่อสกุล
Paraboea
คำระบุชนิด
eburnea
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Triboun, Pramote
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (fl. 2002)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ