ขี้กาเครือ

Strychnos rupicola Pierre ex Dop

ไม้พุ่มรอเลื้อย หรือไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งอ่อนมีหนาม มือพันไม่แยกแขนง ใบเรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่กลับ เส้นโคนใบ ๓ เส้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีนวล ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม สุกสีส้มหรือสีแดง

ขี้กาเครือเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย หรือไม้เถาเนื้อแข็ง เปลือกสีน้ำตาลอมส้ม ถึงสีเทา กิ่งอ่อนมีหนาม มีมือพันไม่แยกแขนง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๔-๖.๘ ซม. ยาว ๕-๑๐.๓ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนสอบแหลม กลม หรือตัด มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น จากโคนใบจรดปลายใบ เส้นกลางใบด้านบนแบนหรือเป็นร่องตื้น ๆ ด้านล่างนูน แผ่นใบคล้ายกระดาษ ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. หูใบลดรูปเหลือเป็นเส้นมองเห็นไม่ชัด

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๓ ซม. มีขนอุย ก้านดอกยาวประมาณ ๓ มม. ดอกสีนวล กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปใบหอก ยาว ๑-๑.๘ มม. กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๕.๒-๖.๗ มม. ด้านนอกมีปุ่มเล็กละเอียด ด้านในเฉพาะครึ่งล่างมีขนห่าง ๆ ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก แฉกยาว ๒.๗-๓.๓ มม. หนาเล็กน้อย มีปุ่มเล็กหนาแน่นที่ปลายกลีบ เกสรเพศผู้ ๕ อัน ติดที่ปลายหลอด ไม่มีก้านชูอับเรณู อับเรณูรูปรีแกมรูปขอบขนาน ยาว ๑.๕-๑.๘ มม. ไม่มีติ่ง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลหลายเม็ด รังไข่และก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๗.๕-๙.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม มี ๒ พู

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒-๔.๕ ซม. เปลือกบาง เปราะ สุกสีส้ม หรือสีแดง มี ๑-๔ เมล็ด เมล็ดค่อนข้างกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๙-๒.๒ ซม. หนาประมาณ ๔ มม. มีขนคล้ายไหม

 ขี้กาเครือมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าไผ่ และป่าพื้นราบ ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขี้กาเครือ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Strychnos rupicola Pierre ex Dop
ชื่อสกุล
Strychnos
คำระบุชนิด
rupicola
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis
- Dop, Paul Louis Amans
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Pierre, Jean Baptiste Louis (1833-1905)
- Dop, Paul Louis Amans (1876-1954)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์