กล้วยค่าง

Oropbea enterocarpa Maingay ex Hook.f. & Thomson

ชื่ออื่น ๆ
จิงกล้อม (ชุมพร), พริกนก (ตรัง)
ไม้ต้น ใบเรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกเหนือง่ามใบเล็กน้อย ดอกสีนวล กลีบดอกชั้นในปลายจรดเป็นรูปโคม ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลมีเนื้อ รูปทรงกระบอก ผลสุกสีแดง

กล้วยค่างเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๔ ม. เปลือกเรียบ สีน้ำตาลคล้ำหรือเกือบดำ กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๓.๕-๔.๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๕ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือสอบ แผ่นใบบาง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๐ เส้น ก้านใบสั้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก มี ๒-๓ ดอก แต่เหลือดอกบาน ติดช่ออยู่เพียงดอกเดียว ออกเหนือง่ามใบเล็กน้อย ก้านช่อเรียวเล็ก ยาว ๒-๓ ซม. มีขนสั้นประปราย ใบประดับเรียว ยาว ๓-๕ มม. ก้านดอกเรียวเล็ก ยาว ๑.๕-๒ ซม. กลีบเลี้ยง กลีบ รูปไข่ปลายเรียว ยาว ๔-๕ มม. กลีบดอก เรียงสลับกัน ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ กลีบดอกชั้นนอกสีขาวนวลอมเหลือง รูปไข่ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑.๓-๑.๕ ซม. ปลายแหลม มีขนประปรายด้านนอก กลีบชั้นในยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายกลีบแผ่กว้างคล้ายช้อน จรดกันเป็นรูปโคม ด้านในสีแดงคล้ำหรือแดงอมม่วง เกสรเพศผู้ ๑๒ อัน แต่เป็นหมัน ๖ อัน ล้อมรอบเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๖ อัน แยกกัน แต่ละอันมี ๑ ช่อง มีออวุล ๒-๓ เม็ด

 ผลเป็นผลกลุ่ม ผลย่อยแบบผลมีเนื้อ รูปทรงกระบอกยาว ๕-๑๐ ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๘ มม. คอดกิ่วระหว่างเมล็ด ผลสุกสีแดง

 กล้วยค่างมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้และภาคตะวันออก ขึ้นในป่าดิบชื้น ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย ออกดอกและให้ผลเกือบตลอดทั้งปี.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กล้วยค่าง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Oropbea enterocarpa Maingay ex Hook.f. & Thomson
ชื่อสกุล
Oropbea
คำระบุชนิด
enterocarpa
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Maingay, Alexander Carroll
- Hooker, Joseph Dalton
- Thomson, Thomas
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Maingay, Alexander Carroll (1836-1869)
- Hooker, Joseph Dalton (1817-1911)
- Thomson, Thomas (1817-1878)
ชื่ออื่น ๆ
จิงกล้อม (ชุมพร), พริกนก (ตรัง)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ชวลิต นิยมธรรม